“ประชาธิปัตย์”เปลี่ยนขั้ว ส่อพรรคแตก วิกฤต “ต่ำสิบ”

พรรคประชาธิปัตย์ ถูกเยาะเย้ยถากถางเรื่องแพ้เลือกตั้งซ้ำซาก เพราะการเลือกตั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ แพ้การเลือกตั้งมาตลอด

การเลือกตั้ง วันที่ 2 กรกฎาคม 2538 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.86 คน แพ้พรรคชาติไทย ที่ได้ ส.ส.92 คน

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.123 คน แพ้พรรคความหวังใหม่ ที่ได้ ส.ส.125 คน

วันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.128 คน แพ้พรรคไทยรักไทย ที่ได้ ส.ส.248 คน

Advertisement

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.96 คน แพ้พรรคไทยรักไทย ที่ได้ ส.ส.377 คน

วันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.165 คน แพ้พรรคพลังประชาชน ที่ได้ ส.ส. 233 คน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 159 คน แพ้พรรคเพื่อไทย ที่ได้ ส.ส.265 คน

ไม่นับรวมการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ และการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ กปปส.ชุมนุมปิดถนน พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ความพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ มีการตั้งคำถามกันมาตลอดว่า เป็นเพราะอะไร ซึ่งก็มีคำตอบที่หลากหลายสาเหตุ

ล่าสุด “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และหลานชาย”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มองว่า อาจเป็นเพราะนโยบายยังไม่โดนใจ

“ไอติม” ยังแนะนำให้ปรับพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นพรรคยุคใหม่ โดยเฉพาะการยืนฝ่ายประชาธิปไตยและเป็นรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น รวมทั้งกำหนดนโยบายที่ถูกใจประชาชน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรค

ซึ่งข้อเสนอของ “ไอติม” เรื่องให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรคนั้น อาจจะเป็นแนวคิดของ “อภิสิทธิ์” ที่ให้”ไอติม”เป็นคนเปิด

หรืออาจจะเป็นแนวคิดของ “ไอติม” ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรค

แต่ไม่ว่า จะเป็นความคิดของ”น้า” หรือ “หลาน” สุดท้ายก็เป็นที่มาของ “อภิสิทธิ์”เสนอให้ประชาชนเป็นคนเลือกหัวหน้าพรรค จากเดิมที่ให้ที่ประชุมใหญ่พรรคมีมติเลือก

แม้การเปิดให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรคจะเป็นเรื่องที่ดี เป็นการปฏิรูปพรรค ที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนรวม แต่ก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เกิดวิกฤต

ถึง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ก็จะทำเกิดความขัดแย้งภายในพรรค แบ่งเป็น 2 ขั้ว 3 ขั้ว แกนนำพรรคและสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง อาจจะทิ้ง”ประชาธิปัตย์” ไปสังกัดพรรคอื่น หรืออาจเว้นวรรคทางการเมือง

ถ้า “วรงค์ เดชกิจวิกรม” ได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค และ “ถาวร เสนเนียม” เป็นเลขาพรรค ก็จะเจอวิกฤตลักษณะเดียวกัน

หาก “วรงค์”และ “ถาวร” ประสานกับ ” สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่แนบแน่นในนาม กปปส. หนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะเจอวิกฤตที่หนักขึ้น

จากพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 จะกลายเป็นอันดับ 3, 4, 5 และอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image