บิ๊กตู่ลั่นสนใจการเมือง หา”พรรคร่วมทาง”เดินเกม”ไปต่อ“

ถือเป็นไฮไลต์ของการเมืองก็ว่าได้

เมื่อสายๆของวันจันทร์ที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำเซอร์ไพรส์
ให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตทางการเมือง โดยที่ผู้สื่อข่าวยังไม่ได้ตั้งคำถาม

บิ๊กตู่กล่าวด้วยท่าทีที่สุขุมและน้ำเสียงราบเรียบว่า

“สำหรับสิ่งที่หลายๆ คนอยากจะให้ผมตอบในเรื่องงานการเมือง ผมก็ตอบได้ว่าในขณะนี้ ผมสนใจงานการเมือง”

Advertisement

” แต่การที่ผมจะตัดสินใจอย่างไร จะสนับสนุนใคร มันเป็นเรื่องอีกระยะหนึ่ง ซึ่งผมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง แต่วันนี้ผมสนใจการเมือง เพราะผมสนใจในสิ่งที่ผมทำลงไปว่า ไปถึงไหน อย่างไร วันข้างหน้าจะได้รับการสืบสานต่อไปหรือไม่”

” ผมจะติดตามรับฟังจากบรรดากลุ่มการเมือง พรรคการเมือง นักการเมืองต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้”

” เพราะฉะนั้นผมขอใช้คำแรกนี้ได้ว่า ผมสนใจงานการเมือง เพราะผมรักประเทศชาติของผม ก็คงเป็นเช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนด้วยก็ต้องรักประเทศไทยของเรา ก็สุดแล้วแต่ประชาชนจะว่าอย่างไรในอนาคต ขอบคุณครับ สวัสดีครับ”

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อสนใจงานด้านการเมือง จะลาออกจากหัวหน้า คสช. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบทันทีว่า “ไม่ออก”

หลังจาก” นำร่อง” โดยนายกฯไปแล้ว

วันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีอีก 2 คน คือ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.สำนักนายกฯ และนายอุตตม สาวนายน รมต.อุตสาหกรรม ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้ว่า สนใจการเมืองเช่นกัน

นายกอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ทราบว่ามีรมต.หลายคนสนใจ แต่ต้องไปถามเจ้าตัวเอาเอง หรือให้รอดูวันที่ 29 ก.ย. อันเป็นวันประชุมใหญ่เพื่อก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยตอบนักข่าวในเรื่องการเมืองว่า จะเปิดเผยท่าทีทางการเมืองในเดือนก.ย. แต่เมื่อนักข่าวทวงถามเมื่อคราวไปประชุมครม.สัญจร ที่เพชรบูรณ์ เมื่อ 17 -18 ก.ย.ที่ผ่านมา บิ๊กตู่บ่ายเบี่ยงว่า ยังไม่พูด รอให้กม.เลือกตั้งมีผลก่อน ซึ่ง กม.เลือกตั้งจะมีผลในต้นเดือนธ.ค.

การออกมาพูดในคราวนี้ว่า สนใจการเมือง จึงมีนัยยะ และส่งสัญญาณออกไปพร้อมๆกัน

สำหรับพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก

ด้านหนึ่ง เดินเงียบๆ ดึงอดีตส.ส.และนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เข้าเสริมทัพอย่างคึกคัก สายนี้ดึงคนจากปชป. มาแล้วหลายคน

ไม่ว่าจะเป็น นายสกลธี ภัททิยะกุล บุตรชายพล.อ.วินัย ภัททิยะกุล นายทหารคนดังจากปี 2549 อดีตเคยเป็นส.ส.ปชป. มาเป็นรองผู้ว่าฯกทม.

ล่าสุด คือนายพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ อดีตคนปชป.ที่ไปเคลื่อนไหวกับกปปส. มาเป็นรองเลขาฯนายกฯ
ก่อนหน้านี้ คือการดึงทีมอดีตส.ส.พลังชลเข้ามา หรือการเข้าทาบทามนักการเมืองที่มีลักษณะเป็นคนรุ่นใหม่
อีกด้านหนึ่ง เป็นการเดินเครื่องของกลุ่มสามมิตร เจาะฐานอดีตส.ส.เพื่อไทย โดยใช้อดีตส.ส.เก๋าเกม อย่างนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา และนายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.เพื่อไทยยุคพลังประชาชน โคราช ออกเดินสายทาบทาม

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวทางลึก กวาดนักการเมืองเข้าพรรคอีกหลายรูปแบบ

จากเดิมที่เงียบๆ ระยะหลังเริ่มมีกระแสว่า พรรคนี้น่าจะเข้าป้ายได้เกิน 100 เสียง บางสายบอกว่า อาจทะลุถึง 150

รอบวกกับ ส.ว.อีก 250 ที่จะผ่านขั้นตอนต่างๆ เข้ามาหนุนรัฐบาล

ส.ส. 500 คน กับส.ว.250 คน รวมกันสองสภามี 750 นายกฯต้องมาจากเสียงข้างมาก 376 เสียง หรือเกินครึ่งของรัฐสภา

ถ้าได้ส.ส. 100 เสียง บวกกับสว. 250 ก็เท่ากับ 350 แล้วไปหาพรรคขนาด 40- 50 เสียงมาเติม เพื่อเป็นเสียงข้างมาก

หรืออาจจะต้องเติมด้วยพรรคขนาดกลาง – เล็ก มากกว่า 1 พรรค

คำพูดของบิ๊กตู่เมื่อวันจันทร์ตอนหนึ่งที่ว่า “… ผมสนใจในสิ่งที่ผมทำลงไปว่า ไปถึงไหน อย่างไร วันข้างหน้าจะได้รับการสืบสานต่อไปหรือไม่ ….ผมจะติดตามรับฟังจากบรรดากลุ่มการเมือง พรรคการเมือง นักการเมืองต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้”

สะท้อนว่า นายกฯประยุทธ์กำลังมองหาหรือเชื้อเชิญ พรรคและกลุ่มการเมือง มาช่วย” สืบสาน” งานที่ทำมา 4 ปี

 

หลังจากนี้ น่าจะตามมาด้วยการขยับเคลื่อนไหวของพรรคต่างๆ ที่สนใจจะมา”สืบสาน” แนวนโยบายของบิ๊กตู่และคสช.

และก่อรูปเป็นกลุุ่มพรรคสนับสนุนบิ๊กตู่ ซึ่งที่จริงพอมองเห็นอยู่ แต่จะชัดเจนมากขึ้นและจะเห็นความชัดเจนของกลุ่มหรือพรรคตรงกันข้ามไปพร้อมกัน

ฝุ่นที่ตลบอบอวล จะค่อยจางลงอีกระดับหนึ่ง ภาพการแข่งขันต่อสู้ระหว่างพรรค หรือระหว่างกลุ่มพรรค จะเข้ามาแทนที่

และนี่คือสภาพการเมือง หลังจากบิ๊กตู่ประกาศความตั้งใจ “ไปต่อ” ในการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image