ผู้หญิงทำแท้งไม่ใช่ ‘อาชญากร’ เมื่อกฎหมาย ‘ไม่ตอบโจทย์’ ก็ยกเลิกให้หมด!!

พูดกันมาอย่างยาวนาน กับปัญหา “การทำแท้ง” ที่แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ใน 3 เงื่อนไข แต่ก็พบปัญหาในเชิงปฏิบัติ ที่ยังทำให้ผู้หญิงต้อง “ทำแท้งเถื่อน!”

นำมาซึ่งความบาดเจ็บ ซ้ำร้ายบางราย เสียชีวิต…

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จึงออกมาเสนอให้ “ยกเลิกกฎหมายทำแท้ง” ทั้งหมด ได้แก่ ป.อาญา มาตรา 301-305 แล้วยกให้การทำแท้งเป็นข้อบังคับทางสุขภาพในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข

ทำไมต้อง “ยกเลิกกฎหมาย”

Advertisement

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เผยว่า

ปัญหาหลักมี 2 ประการ

1.วิธีคิดที่ฝังอยู่ในกฎหมายอาญาของไทย ที่มองว่าการทำแท้งเป็น “อาชญากรรม” และผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และไปทำแท้งคือ “อาชญากร” มีความผิดตามมาตรา 301 ซึ่งเป็นมาตราเดียวในประมวลกฎหมายอาญาที่ลงโทษเฉพาะ “ผู้หญิง” เท่านั้น

Advertisement

ขณะที่ มาตราอื่นๆ เกี่ยวกับการทำผิดต่างๆ จะใช้คำว่า ‘บุคคล’ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

มาตรานี้ลงโทษผู้หญิงทั้งๆ ที่ไม่มีผู้เสียหาย เพราะเป็นการตัดสินใจกระทำต่อร่างกายของตนเอง

จึงอยากให้ยกเลิกมาตรา 301-305 และให้การทำแท้งเป็นข้อบังคับทางสุขภาพไป

ประเด็นที่ 2 แม้กฎหมายปัจจุบันจะมีข้อยกเว้นบางประการให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถทำแท้งได้ ใน 3 กรณีหลักๆ คือ

1.การท้องเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและหรือสุขภาพใจของหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น

2.การท้องนั้นเป็นผลมาจากการการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 276 คือการทำให้เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาตั้งท้อง ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มาตรา 277 คือการข่มขืนกระทำชำเรา มาตรา 282, 283 และ 284 คือการใช้อุบาย หลอกลวงผู้หญิง มาสนองความใคร่ จนหญิงนั้นตั้งครรภ์

3.ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการรุนแรง ทั้งนี้ผู้ทำให้ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น

ทว่า…ในข้อเท็จจริง แม้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมจะมีเหตุผลดังกล่าว แต่ก็พบว่า แพทย์จำนวนมาก “ปฏิเสธ” ที่จะทำแท้งให้ จนผู้หญิงต้องไปหาสถานบริการเถื่อน หรือใช้ยาแบบไม่ปลอดภัย และเป็นอันตราย ต่อชีวิต

จากปัญหานี้ หลายคนมองว่าเป็นเรื่อง “บุญ-บาป” แต่น้อยคนที่จะตั้งคำถามว่า ถ้าปล่อยให้เด็กคนหนึ่งเกิดมา โดยที่พ่อแม่ไม่พร้อมดูแล หรือปล่อยให้เด็กเกิดมาพิการ และอีกสารพัดปัญหาที่ทั้งผู้หญิงและเด็กต้องเจอ จะเรียกว่า “บาปกว่า” หรือไม่???

จากสถิติของ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม พบว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค. 58-30 มิ.ย. 61 มีผู้มารับบริการปรึกษาจากสายด่วน 1663 เรื่องท้องไม่พร้อม 52,370 ราย รู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว 29,191 ราย และตัดสินใจเลือกยุติการตั้งครรภ์ 19,097 ราย

และเฉพาะ ตุลาคม 60 – มิถุนายน 61 มีผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมารับบริการปรึกษากับ 1663 จำนวน 12,215 ราย และตัดสินใจเลือกยุติการตั้งครรภ์ถึง 8,577 ราย

ซึ่งนี่คือ หนึ่งในจำนวนที่โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษา แต่ยังมีผู้หญิงท้องไม่พร้อมอีกมากมายที่ตัดสินใจ “ทำแท้งใต้ดิน” ด้วยตัวเอง โดยมีการประมาณการกันว่า มีผู้หญิงทำแท้งขั้นต่ำ 2 แสนคนต่อปี!!

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Referral System for Safe Abortion: RSA) โดยรวบรวมแพทย์และทีมสหวิชาชีพมาคอยให้คำปรึกษาและบริการ พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ rsathai.org เพื่อให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้าไปศึกษาข้อมูลเครือข่ายสถานบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และติดต่อขอความช่วยเหลือได้

เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล 28 กันยายนนี้ สิ่งที่สังคมจะช่วยกันได้คือ การเปลี่ยนวิธีคิดว่า การท้องไม่พร้อม คือ ปัญหาสุขภาพ และผู้หญิงเหล่านี้ต้องการการช่วยเหลือทางการแพทย์ เพื่อยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ไม่พึ่งพาบริการทำแท้ง “ใต้ดิน” เพราะสามารถเดินเข้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้

โรงพยาบาลควรมีบริการเฉพาะสำหรับผู้หญิงท้องไม่พร้อม มีผู้ให้คำปรึกษา และมีทางเลือกให้ผู้หญิงตัดสินใจ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้หญิง

สำคัญที่สุด การทำแท้งไม่ใช่ความผิดทางอาญา ไม่ใช่อาชญากรรม และผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image