“ตารางมรณะ” ความบังเอิญแต่หลอน เศรษฐกิจ-การเมืองไทย

“ตารางมรณะ”ฟังแค่ชื่อคงให้อารมณ์เสียวสันหลัง สยองขวัญสั่นประสาท ชวนคิดไปถึง “เดธโน้ต” หรือจำพวก “คืนหลอนวิญญาณโหด”

แต่ในแวดวงธุรกิจประกันภัยคุ้นชินรู้จักกันดีว่า เป็นการเก็บสถิติผู้ที่ทำประกันทั้งประเทศ มาคำนวณโอกาสการเสียชีวิตของคนแต่ละช่วงชีวิต

นำมาสร้างตารางใช้คำนวณค่าเบี้ยประกันหรือทุนประกันอะไรทำนองนั้น ทุกประเทศก็มีตารางมรณะของตัวเอง และมีการเปลี่ยนแปลงทุก 10 ปี เพียงแต่ช่วงเวลาคำนวณอาจแตกต่างกันไป

สำหรับบ้านเราเพิ่งปรับเปลี่ยนมาใช้ตารางมรณะตัวใหม่ เมื่อ 1 กันยายน 2560 หรือใช้มาแล้ว 1 ปี
สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ย่อยตัวเลขจากตารางมาอธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆ

Advertisement

อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยจากตารางมรณะ ปี 2551 – 2560 จากเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี
ตามตารางใหม่สังขารคนไทยยืนยาวขึ้น เฉลี่ยที่ 74 ปี

เมื่อแบ่งเป็นช่วงอายุก็พบว่า

-อัตราการตายของคนที่อยู่ในช่วง 20-30 ปี จะลดลงไปถึง 35 – 45%
-ช่วงอายุ 31-60 ปีน ตายลดลง 25 – 35%
-คนเลยวัยเกษียณโอกาสเสียชีวิตน้อยลง โดยเฉพาะช่วง 61-75 ปี อัตราการเสียชีวิตลดน้อยลงปีละประมาณ 25%

อย่างที่บอกข้างต้น ตารางมรณะมีไว้เพื่อการบริหารจัดการในธุรกิจประกันภัยเป็นหลัก

แต่ก็มีข้อสังเกตชวนคิด ตลอดทุกรอบ 10 ปีตาางมรณะไทย บังเอิญไปสอดคล้องกับรอบของช่วงวิกฤตการณ์การเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลก

วิกฤตตลาดหุ้นไทยที่ได้รับเชื้อฟองสบู่แตกในสหรัฐฯ ที่กลายเป็นเหตุการณ์ “แบล๊ก มันเดย์” ปี 2530 ลามตลาดหุ้นทั่วโลก

วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งของไทย ปี 2540 ก็เกิดขึ้นพร้อมกับตารางมรณะไทย ปี 2540
วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ ปี 2551 ก็มาพร้อมกับตารางมรณะไทย ปี 2551
และให้บังเอิญอีกเช่นกัน แต่ละช่วง 10 ปีตารางมรณะของไทย ก็ไปผูกโยงกับวิกฤตการเมือง

23 กุมภาพันธ์ ปี 2534 คณะ รสช. ทำรัฐประหารรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ตามมาด้วย “พฤษภาทมิฬ” ปี 2535
19 กันยายน ปี 2549 คณะ คมช. ทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ
22 พฤษภาคม 2557 คณะ คสช. ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์

สาบานได้ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาชี้เป้าใดๆทั้งสิ้น แค่เล่าสู่กันฟังเอาสนุก

ใครมองว่า ทำลายบรรยากาศโหมดเลือกตั้ง ก็ต้องขออภัยอย่างแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image