ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ “3 ทางเลือก” ความหวังผู้ป่วย

ทันทีที่มีข่าวผลักดันกฎหมายเพื่อปลดล็อกให้กัญชานำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ก็กลายเป็นความหวังของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการใช้เพื่อลดอาการแทรกซ้อนต่างๆ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคลมชัก และโรคอื่นๆ เพราะที่ผ่านมามีงานวิจัยรองรับ และยังสามารถนำมาใช้แทนยาบางชนิดที่บางกลุ่มโรคเริ่มดื้อต่อยา

แต่ความหวังก็เริ่มริบหรี่ เพราะในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดและร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)รวม 3 ฉบับ การพิจารณาค่อนข้างช้า และมีรายละเอียดมา ซึ่งเดิมตั้งกรอบเวลา 90 วัน แต่ได้ขอขยายเวลาอีก 90 วัน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่ทันสภาฯนี้

ที่ผ่านมาจึงมีทางออก 3 ทางในการพิจารณากฎหมาย เพื่อให้ทันต่อสภาฯชุดนี้ ประกอบด้วย

ทางเลือกที่ 1 เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย แบ่งเป็น 1.1 ขั้นตอนการพิจารณาตามปกติ ซึ่งหลายฝ่ายคิดว่าไม่น่าทัน และ 1.2 กรณีที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. จำนวน 43 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ต่อที่ประชุมสนช. เพื่อแก้ไขให้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ กัญชาและพืชกระท่อม สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ หลังจากมีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ได้นำเสนอร่างแก้ไขให้กับทางเลขาธิการวุฒิสภา ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการสนช. เพื่อนำร่างกฎหมายรับฟังความเห็นผ่านทางเว็ปไซต์ของสนช. เบื้องต้นคาดว่าการรับฟังเนื้อหาผ่านทางเว็บไซต์จะใช้เวลา 15 วัน และจะเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะเสนอให้ สนช. พิจารณาในวาระแรก

Advertisement

ทางเลือกที่ 2 อาศัยอำนาจมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในการปลดล็อกกฎหมายให้สารสกัดกัญชาใช้ทางการแพทย์ได้

และทางเลือกที่ 3 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยคณะกรรมการยาเสพติแห่งชาติ พิจารณากลุ่มประเภทกัญชาใหม่ จากปัจจุบันอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ก็ให้เฉพาะสารสกัดจากกัญชาเป็นประเภทที่ 2 คือ ใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น ทำคล้ายๆมอร์ฟีน ซึ่งก็จะมีกระบวนการขั้นตอนการควบคุมการใช้

เรื่องนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ออกมาสนับสนุนกระแสข่าวว่า คณะทำงานงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจตามม. 44 ปลดล็อกกฎหมายนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความจำเป็น เพราะหากวิจัยพัฒนาสำเร็จ และทดลองใช้ในมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ย่อมเป็นความหวังให้แก่ผู้ป่วยได้ ส่วนทางเลือกที่จะให้สารสกัดกัญชาอยู่ในประเภท 2 นั้น ปัญหาคือ จะได้เฉพาะยาแผนปัจจุบัน แต่จะเสียดายตรงกลุ่มแพทย์แผนไทย ซึ่งก็มีองค์ความรู้ตรงจุดนี้ ซึ่งทางออกถ้าจะให้ทันจริงๆ ส่วนตัวก็สนับสนุนให้อาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยใช้มาตรา 44

Advertisement

ยังมีอีกหลายภาคส่วนออกมาสนับสนุนให้มีการปลดล็อกโดยเร็ว อย่างเร็วๆนี้ แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายวิชาการศึกษาพืชกระท่อม-กัญชา และมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) ก็ขอให้รัฐบาลปลดล็อกเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย เนื่องจากชัดเจนว่ามีหลายประเทศได้นำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ประโยชน์แล้ว

ขณะที่ประเทศไทย มีคณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ชุดที่ 3 ที่มี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน ก็ชี้ชัดว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์จริง เบื้องต้นมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ คือ 1. รักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้คีโม 2. โรคลมชักดื้อต่อการรักษาในเด็ก 3. ปลอกประสาทอักเสบ และ 4. อาการปวดรุนแรง ที่เดิมต้องใช้มอร์ฟีนในการบรรเทาอาการปวด ส่วนข้อเสนอเพื่อการรักษาโรคอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสันนั้นก็จะศึกษาไปพร้อมกัน

ส่วนเรื่องมาตรการความปลอดภัยในการนำมาใช้ ก็มีขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆ ตรงนี้เป็นหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในเรื่องการปลดล็อกสารสกัดกัญชาคงต้องฝากความหวังใหญ่ๆกับทาง สนช.จริงๆ ว่าจะทำได้หรือสุดท้ายต้องพึ่งพาม.44 อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image