“มหาธีร์”กับ”ข้อเสนอใหม่” คลายปม “บีอาร์เอ็น”

Prime Minister of Malaysia Mahathir bin Mohamad addresses the 73rd session of the United Nations General Assembly at U.N. headquarters in New York, U.S., September 28, 2018. REUTERS/Shannon Stapleton

มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพิ่งว่างเว้นจากภารกิจภายในประเทศ กำหนดเดินทางเยือนไทยในระหว่างวันที่ 24 และ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้ คาดว่า คงมีหลากเรื่องหลายประเด็น หยิบยกขึ้นมาหารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยทันทีที่ได้พบหน้าค่าตากัน

ประเด็นหนึ่งที่อยู่ในหัวข้อหารือแน่นอนก็คือ การผลักดันให้การเจรจาสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้กลับมาขยับเขยื้อนเคลื่อนที่กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากชะงักมานาน

ที่แน่ใจว่ามีเรื่องนี้อยู่ในประเด็นหารือด้วยนั้น เป็นเพราะว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังมาไม่ถึงเมืองไทยก็จริง แต่เบอร์นามา สำนักข่าวทางการมาเลเซีย เสนอรายงานข่าวแล้วว่า “ดร.เอ็ม” ที่สื่อมาเลย์ชอบใช้เรียกขานนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ มี “ข้อเสนอใหม่” ในการแก้ปัญหาขัดแย้ง 3 จังหวัดภาคใต้ มาเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาในระหว่างการเยือนครั้งนี้

การเจรจาสันติภาพเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมานั้น มีเสียงติติงอยู่บ่อยครั้งว่า แม้จะไม่ถึงกับเจรจา “ผิดคน-ผิดกลุ่ม” แต่ก็ไม่ครอบคลุมกลุ่มทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ ด้วยเหตุที่ว่า มีการรวมตัวกันของตัวแทนจากหลายๆ กลุ่มขึ้นเป็น “มาราปัตตานี” สำหรับการเจรจากับรัฐบาลไทยดังกล่าวก็จริง แต่มีบางกลุ่มปฏิเสธการเข้าร่วม

Advertisement

 ทำให้ยากที่ความตกลง หรือความคิดเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นผลจากการเจรจา สามารถมีผลบังคับใช้ในพื้นที่

ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นสภาพเป็นเหมือน “เจรจาไปพลาง รบกันไปพลาง” ยังคงเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ แม้แนวโน้มความถี่ของการเกิดเหตุจะลดลงก็ตามที

ตามรายงานของเบอร์นามาระบุว่า หนึ่งในหลายข้อเสนอใหม่ของ ดร.เอ็ม ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และอาจหยิบขึ้นมาเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไทยระหว่างการเยือนครั้งนี้ ก็คือ การเพิ่ม “กลุ่มหรือกลุ่มแยก” อีกจำนวนหนึ่งเข้าไปใน “มาราปัตตานี” ซึ่งไม่เคยร่วมอยู่ในกลุ่มเจรจามาก่อน

Advertisement

เบอร์นามา ให้ความเห็นเอาไว้ว่า หากข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ ก็จะทำให้การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปัตตานีที่มีมาเลเซียเป็นคนกลาง กลายเป็นการเจรจาที่มีกลุ่มซึ่งมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเจรจามีสารัตถะและน้ำหนักมากขึ้นตามธรรมชาติ

ในรายงานเมื่อ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา เบอร์นามา “คาดการณ์” เอาไว้ว่า กลุ่มใหม่ ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมในการเจรจากับรัฐบาลไทยนั้น อาจรวมไปถึง “ปีกทหาร” ของขบวนการ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani-BRN) หรือ บีอาร์เอ็น ซึ่งน่าจะหมายถึง บีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนต หรือ บีอาร์เอ็น-ซี ที่ถูกพูดถึงกันบ่อยครั้ง และเชื่อกันว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่า “รุนดา คัมปูลัน เคซิล” (Runda Kumpulan Kecil-RKK) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “อาร์เคเค” ที่มีชื่อรับผิดชอบในการก่อเหตุอยู่บ่อยครั้งนั่นเอง

อีกกลุ่มหรือกลุ่มย่อย ก็คือ กลุ่มที่แยกย่อยออกมาจาก “องค์การปลดปล่อยสหปัตตานี” ที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ “พูโล” (Pattani United Liberation Organization-PULO) โดยเฉพาะกลุ่มพูโลรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความรุนแรงมาก่อน

อาจารย์ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (ดีพเซาธ์วอทช์) ให้ความเห็นต่อการ เพิ่ม ปีกทหารของ บีอาร์เอ็น-ซี กับ กลุ่มของ พูโล เข้าไปใน “มาราปัตตานี” เพื่อเจรจากับทางการไทยว่า ถ้าหากจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องดีและเป็นผลบวกต่อการเจรจา เพราะการเพิ่มกลุ่มดังกล่าวเข้าไปในการเจรจาด้วย ทำให้กระบวนการเจรา “มีเสถียรภาพ” มากขึ้น และ “มีประสิทธิภาพ” มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบีอาร์เอ็น-ซี ปฏิเสธการเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพกับทางการไทย ไม่ได้เป็นเพราะเชื่อว่าการเจรจาไม่น่าจะมีผลลัพธ์ในแบบที่ตนต้องการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะทางการไทยพยายามหลีกเลี่ยง ไม่พยายามเจรจากับมาราปัตตานี ในประเด็นหลักที่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งอีกด้วย นั่นคือ ข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ขอให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ปกครองตนเอง

ถ้า บีอาร์เอ็น ยังคงยึดประเด็นหลักดังกล่าวในการเข้าร่วมโต๊ะเจรจา ก็ถึงคราวที่รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่า พร้อมแล้วหรือไม่ที่จะเจรจาต่อรองกันในประเด็นสำคัญนี้

 หรือจะปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไปอีกครั้ง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image