เคสศึกษา “ยกฟ้อง” รถตู้คอนเทนเนอร์ทับฟอร์จูนเนอร์พัง-คนขับเจ็บ

สัปดาห์ที่ผ่านมามีคดีที่น่าสนใจกรณีศาลยกฟ้องคนขับรถบรรทุกขับขี่รถโดยประมาท ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หล่นทับรถฟอร์จูนเนอร์พังยับ เป็นเหตุให้คนขับได้รับบาดเจ็บสาหัส

ว่ากันว่าเป็นการแพ้คดีทาง “เทคนิค”!

วันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้ตรวจวัดแอลกอฮอล์คนขับรถบรรทุก

ผลปรากฎว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนด

Advertisement

จึงแยกคดีส่งสำนวนให้อัยการฟ้องเฉพาะข้อหา “เมาแล้วขับ” ไปก่อน

ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนจะสรุปสำนวนคดีส่งอัยการสั่งฟ้องต่อศาล

โดยทนาย “จำเลย” ยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาต่อสู้ว่า

Advertisement

คดีนี้เป็นคดี “ฟ้องซ้ำ”กับคดีแรก

จนนำไปสู่ศาลพิพากษา”ยกฟ้อง”!

ซึ่งหลักฟ้องซ้ำ เป็นหลักกฏหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีว่า “ไม่ควรถูกดำเนินคดีซ้ำสองครั้ง จากการกระทำเดียว”

ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ควรต้องได้รับความลำบากเนื่องจากการพิจารณาเพื่อลงโทษถึงสองครั้งในการกระทำเพียงครั้งเดียว

การดำเนินคดีอาญาของรัฐจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

หลักการดังกล่าวอยู่ใน ป.วิอาญามาตรา 39(4) สรุปว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง”

กล่าวคือ การกระทำในครั้งเดียวแม้จะเป็นความผิดต่อกฏหมายกี่บทก็ตาม ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

โดยหลักว่าการกระทำที่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดบทใดบทหนึ่งไปแล้ว

ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว

โจทก์จะนำการกระทำเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ แม้จะฟ้องคนละฐานความผิดกันก็ตาม

ดังนั้นคดีนี้เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจในการทำสำนวนให้ถูกต้อง ด้วยการแจ้งข้อหาในคราวเดียวกันทั้ง 2 ข้อหา แล้วรวมเป็นสำนวนเดียวโดยไม่ต้องแยกแบบนี้หรือไม่?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image