นิวส์รูมวิเคราะห์ : ท่าทีต่อ ‘อียู’ ขอส่องกล้องคูหาเลือกตั้งไทย น่าอดสูจริงหรือ

กลายเป็นประเด็นที่ผู้มีอำนาจเริ่มห่วงใย กลัวว่าจะเกิดการ “ล้ำเส้น” จากผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งขององค์กรต่างชาติในการจัดเลือกตั้ง 24 ก.พ.ปีหน้านี้ หลังจาก สหภาพยุโรป หรือ อียู แจ้งไปยังกกต.และกระทรวงการต่างประเทศขอส่ง คณะ Election Observation Mission (EOM) ขนกันมา 200-400 คน เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย

อิทธิพร บุญประคอง ประธาน  กกต. บอกว่า เมื่อก่อนจะมากันในแบบ Election Expert Mission (EEM) ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะกกต.กำหนดเงื่อนไขของผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด  ไปไหนต้องแจ้ง หากไม่ได้มายุ่งย่ามหรือรบกวนการทำงานของกกต. ถ้าทำได้ “ก็ไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ”

แต่ดูเหมือน “จำนวน” ผู้สังเกตการณ์ของอียูที่มากันหลายร้อยคนกลายเป็นข้อกังวล คงมาส่องกล้องกันแบบสเกลละเอียด

ที่ขึงขังและท่าทีชัดเจนไม่แฮปปี้ น่าจะเป็น ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พูดตรงไปตรงมาว่า “การส่งคณะเข้ามาสังเกตการณ์เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ยิ่งตัวเลขมากถึงหลัก 200 ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก” และก็ยังพูดอีกก่อนหน้า  มีการใช้คำว่า “มันน่าอดสูที่เราต้องไปอาศัยคนอื่นตลอดเวลา”

Advertisement

หากได้ย้อนเวลาไปเมื่อ 11 ธ.ค. 2560 หรือเมื่อ 11 เดือนก่อน กรณีที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียู มีมติรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลไทย แม้มีการเสนอ 14 ข้อหลัก อาทิ  ยืนยันข้อเรียกร้องให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพ ตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่ม ทั้งหมดถูกปิดกั้นนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557

ท่าทีของไทยยังรู้สึกยินดีมากกว่าจะกังวลกับ 14 ข้อด้วยซ้ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถูกถามเรื่องนี้ก็ตอบสั้นๆว่า “ก็ดีแล้ว”

ขณะที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ตอนนั้นและใจความหนึ่งกล่าวว่า “มติของอียูที่ออกมาเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองได้ระดับหนึ่ง กระแสการเมืองที่ไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้อียูเห็นความตั้งใจ ไทยก็ยินดีกับเรื่องนี้  เป็นปัจจัยที่ดีที่นักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นมากกว่าเดิม”

Advertisement

เช่นเดียวกับความปลาบปลื้มล่าสุดเมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ในช่วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ที่เบลเยียม

ดอนให้ข่าวว่า “มีผู้นำหลายประเทศประสงค์จะพบหารือกับนายกฯ แล้วมากกว่า 11 ประเทศ แต่ไม่สามารถหารือได้ครบทุกประเทศ การที่มาพูดคุยกับนายกฯ ส่วนหนึ่งเพราะบรรดาผู้นำต่างก็สนใจกับโรดแมป ทราบกันดีว่ากำลังเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง ทางนายกฯมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ ทำให้นานาประเทศรับรู้ว่าโอกาสที่นายกฯ จะกลับมาอีกก็มี เมื่อมีโอกาสมีมุมนี้ขึ้นมา ก็อาจจะเป็นมุมที่ทำให้ใครๆ ก็อยากจะพูดคุย กับผู้ที่อาจจะเป็นผู้นำคนต่อไปของประเทศไทยก็ได้”

นับเป็นมิติที่ดี สำหรับผู้นำต่างชาติเริ่ม”ขอแตะ”การเมืองไทยในทางบวกเป็นลำดับ อย่าลืมว่า ประเทศไทยเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554

แล้วเหตุไฉนที่ “อียู” องค์กรเดียวกันนี้ แจ้งขอสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทยอย่างจริงจัง จึงต้องรีบตอบอย่างไม่ใยดี กลายเป็นหนังคนละม้วน

ดีหรือไม่ที่คสช.ควรใช้โอกาสครั้งนี้แสดงให้ชาวโลกเห็นว่า การเลือกตั้งโปร่งใส ไม่ได้กลัวหรือหวาดระแวง ประชาชนใช้สิทธิ์เต็มเสียงเต็ม การนับคะแนนทำกันอย่างเปิดเผย ถ้างานเลือกตั้งออกมาดี เสียงชื่นชมก็ตามมา การันตีสถานะของไทยในสายตาประชาคมโลกไปในตัว น่าจะยืดอก พูดได้เต็มเสียง แต่ถ้าเกิดเสียงติวิจารณ์ที่คิดว่าไม่ถูกต้องก็ต้องชี้แจงอย่างแข็งขัน

เอาเข้าจริง คาราวานของอียูดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น หากในช่วงเลือกตั้ง บรรดาข่าวสารหรือข้อมูลที่ส่งและรายงานถึงกันในโลกโซเชียลนั่นต่างหากเล่า ไม่มีอะไรมาควบคุมได้เลย มีการตั้งรับกันหรือยัง ตรงนี้น่ากลัวกว่าและไม่เป็นมงคลเสียอีก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image