“วินิจฉัย”อาการ “ตีความ” คำว่า “ฉุกเฉิน”จากบทเรียน “ช่อลัดดา”

สดๆ ร้อนๆ กับกรณีเหตุการณ์สะเทือนใจเมื่อ “น.ส.ช่อลัดดา ทาระวัน” อายุ 38 ปี ถูกนายคำตัน สิงหนาท อายุ 50 ปี สามีสาดน้ำกรดเข้าที่ใบหน้าเพราะความหึงหวง ซึ่งต่อมา น.ส.ช่อลัดดา ต้องกัดฟันทนพิษบาดแผลประคองตัวเองให้ลูกสาววัยเพียง 12 ปี

นั่งแท็กซี่ตั้งใจจะไปเข้ารับการรักษาตามสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาล (รพ.) บางมด ด้วยความปรารถนาดีของแท็กซี่ที่เห็นว่าอาการหนักจึงนำส่ง รพ.พระราม 2 ที่ใกล้กว่า แต่เคราะห์ร้ายกลับถูก รพ.พระราม 2 ปฏิเสธการรักษาทั้งๆ ที่อาการยังไม่พ้นขีดอันตราย จนต้องขึ้นแท็กซี่กลับไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิม สุดท้ายทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิต
กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์”

ทันทีที่ “ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม” นำครอบครัวของผู้เสียชีวิตไปเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบและเอาผิดกับผู้ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ทั้งจาก รพ.พระราม 2 ที่ตกอยู่ในสภาพ “จำเลย” ของสังคม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานของสถานพยาบาลเอกชน แพทยสภา และสภาการพยาบาล ที่กำกับดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของแพทย์ และพยาบาล

ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย และต้องรอผลสรุป โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า “เข้าข่าย” เจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดเหตุหรือไม่

Advertisement

สรุปคือ กรณีของหญิงที่ถูกสาดน้ำกรดรายนี้ ยังมีปัญหาที่การ “วินิจฉัย” อาการ และ “ตีความ” คำว่า “ฉุกเฉิน” ที่ไม่ตรงกัน เพราะจากคำชี้แจงของคณะผู้บริหาร รพ.พระราม 2 ยืนยันว่าทั้งแพทย์ และพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ เวลานั้น เห็นว่าอาการของผู้ป่วยหญิงรายนี้ยังไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤต

อันที่จริง “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน) ฟรี 72 ชั่วโมงแรก ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีเจตนาดีต้องการให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยในกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสอบถามถึงเรื่องค่าใช้จ่าย เพื่อลดการสูญเสียชีวิต มีการตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ออกกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ ให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

กฎเกณฑ์และกติกาเหล่านั้น เป็นเพียงกรอบแนวทางที่มี “คน” เป็น “ผู้ปฏิบัติ”

แต่หากจะให้มีเหตุการณ์สลดใจในลักษณะทำนองเดียวกันแบบนี้เกิดขึ้นอีก แม้จะไม่บ่อย ก็ไม่น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย  

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image