ทิ้งทวน”ประชานิยม” กฎเหล็กรออยู่ข้างหน้า

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมืองกับมติครม.ล่าสุดอนุมัติวงเงินแสนล้านช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐไปจนถึงข้าราชการบำนาญ และผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการบ้านอยู่อาศัย เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ากระเป๋าชาวบ้านในช่วงสุดท้ายก่อนถึงโรดแมปเลือกตั้งที่กำหนดไว้ว่าจะเป็น 24 ก.พ.62 หรืออีกแค่ 3 เดือนเท่านั้น

คนของรัฐบาลปัดพัลวันทันทีเหมือนรู้เกมว่าต้องถูกโวยว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้าบ้าง เป็นเรื่องประชานิยมบ้าง แต่เมื่อมีการชูเรื่อง “ภารกิจ” และ “หน้าที่” ของรัฐบาลที่จะบริหารบ้านเมืองช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ดีกินดี ทำไมจะทำไม่ได้

เหล่าพรรคการเมืองต่างๆ มองว่าเป็นการชิงความได้เปรียบ จึงส่งเสียงเอ็ดตะโรกันเป็นธรรมดา การหาเสียง ขายนโยบายของพรรค ยังต้องรอคำสั่ง ม.44 ปลดล็อก” หลังมีการออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งส.ส.ในเดือนธ.ค.นี้ แม้ท่าทีของ กกต.ดูจะขึงขัง เตรียมเก็บข้อมูลตรวจสอบเรื่องการอนุมัติงบดังกล่าว

แต่การออกประชานิยมอย่างนี้น่าจะไม่สะดวกอีกแล้วหลังมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น แม้แต่ทุกพรรคการเมืองที่เมื่อได้ไฟเขียวหาเสียงได้ การประกาศนโยบายจูงใจหรือเร่ขายฝันกันไป ก็ต้องระวังกันมากขึ้น

Advertisement

มาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เขียนไว้ว่า การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา นโยบายไหนที่ต้องใช้จ่ายเงิน ได้ระบุไว้ 3 ข้อ คือ

1.วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย ในกรณีพรรคการเมืองไม่ดําเนินการตาม ให้กกต.สั่งให้ดําเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด หากยังไม่ดําเนินการตามคําสั่ง กกต. ในมาตรา 121 ได้กําหนดให้ กกต.ปรับไม่เกิน  5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

อีกทั้งหลังพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ต้องระมัดระวังอย่างสุ่มเสี่ยงต่อกฎเหล็กใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 หน่วยงานของรัฐที่อยู่ในกำกับของรัฐบาลต้องพิจารณาตามกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย การก่อหนี้ รวมถึงการจัดการรายงานการเงิน

ดังนั้น ประชาชนที่กำลังพิจารณาจะกาเลือกส.ส.คนไหนและพรรคไหน เน้นดูเรื่องนโยบายของพรรค อาจไม่เห็นนโยบายชวนให้คล้อยตาม ส่งผลถึงสีสันบรรยากาศความคึกคักที่จะหายไปส่วนหนึ่ง นับว่าเสียโอกาสในการเลือกคนที่ใช่ไปเหมือนกัน

เหล่าผู้สมัครทั้งเก่าและใหม่อาจไม่กล้าเสนอนโยบายใหม่ๆ ทันที ต้องคิดกันอย่างมีมิติมากขึ้น

มีความเป็นไปได้ว่าผู้สมัครหน้าเดิมๆ จะ “น้ำดี” หรือ “น้ำเน่า” เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านแตกต่างกันไป แม้จะเปลี่ยนสังกัดพรรคการเมืองอาจจะยังได้เปรียบบ้างในมุมนี้ อาศัยผลงานเดิมๆ หรือพรรคเก่าแก่ก็ยังมีพื้นที่ยืนของตัวเอง ส่วนความเป็นพรรคใหม่ก็ต้องอาศัยต้นทุนความคิดดีๆ กล้านำเสนอ  “คลิก” ให้เกิดมุมมองใหม่ๆ

แต่ช่องทางไม่ได้ปิดเสียทีเดียว ในเมื่อต่างบอกว่า คนไทยมีการศึกษามากขึ้น เข้าใจการเมืองมากขึ้น เป็นหน้าที่ของผู้สมัคร ส.ส.จะเก่าหรือใหม่ที่้ต้องคิดตามโจทย์ใหม่ อย่าเพียงแค่โชว์กึ๋นเหมือนยืนรายงานหน้าชั้นเด็ดขาด

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image