ผ่าวิกฤต ‘ช้างศึก’ โค้ชนอก VS โค้ชไทย ตัวเลือกไหนคือคำตอบ?

กลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องยาวนานหลายวันหลังทีม “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย พลาดท่าตกรอบรองชนะเลิศศึก เอเอฟเอ ซูซุกิคัพ ที่ตัวเองเป็นแชมป์เก่า หลังเสมอกับ “เสือเหลือง” มาเลเซีย 2-2 ในการเล่นนัดที่ 2 ในบ้าน เมื่อสัปดาห์ก่อน

ช้างศึกตกรอบโดยไม่แพ้ให้ทีมใดในทัวร์นาเมนต์นี้ แต่เป็นไปตามกฎว่าด้วย “อเวย์โกล” หรือประตูทีมเยือน เนื่องด้วยนัดแรกบุกไปเสมอที่มาเลเซีย 0-0 แต่นัดสองโดนเสือเหลืองส่องตาข่ายในบ้าน 2 ลูก

ประเด็นที่แฟนบอลไทยวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือแทกติกและแผนการเล่นของช้างศึกชุดปัจจุบันภายใต้การคุมทีมของ มิโลวาน ราเยวัช กุนซือชาวเซอร์เบียที่เป็นโค้ชถนัดเกมรับ เน้นการเล่นที่รัดกุม แต่สุดท้ายกลายเป็นว่ารับก็รับไม่สุด รุกก็ทำได้ไม่เต็มที่ เลยดูเงอะงะไม่ลงตัวในหลายจังหวะ

การตกรอบตัดเชือกเอเอฟเอฟ ซูซุกิคัพ อาจพออ้างได้ว่าไทยขาดผู้เล่น 4 ตัวหลักที่ค้าแข้งในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น “เมสซี่เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์, “มุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา, “อุ้ม” ธีราทร บุญมาทัน  และ “ตอง” กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ แต่ถ้าพิจารณาถึงมาตรฐานทีมช้างศึกในปัจจุบันกับวลี “ก้าวข้ามอาเซียน” ที่ติดปากมาตั้งแต่ยุคของโค้ชคนก่อนอย่าง “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ถึงอย่างไร ทีมชาติไทยก็น่าจะสู้ได้สนุกและน่าประทับใจกว่านี้

Advertisement

ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนโค้ช มิโลวาน ราเยวัช ซึ่งเข้ามารับหน้าที่เมื่อปีที่แล้วนั้น ทาง “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยืนยันว่าจะยังไม่เกิดขึ้น และการประเมินผลตามสัญญาที่ทำไว้เมื่อปีที่แล้วก็ระบุว่าจะประเมินหลังการแข่งขันฟุตบอล เอเชี่ยนคัพ ต้นปีหน้า แฟนบอลที่ใจร้อนคงต้องรอกันอีกสักระยะดูว่าเมื่อให้โอกาสแล้วและถึงทัวร์นาเมนต์จริงจัง กุนซือชาวเซิร์บจะทำได้ดีขนาดไหน

ราเยวัชคุมทีมมาปีกว่าๆ มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันหน่อยคือ คิงส์คัพ ที่คว้าแชมป์ปีที่แล้ว กับรองแชมป์ปีนี้ แต่เนื่องจากเป็นฟุตบอลสี่เส้ารายการพิเศษ จึงยังไม่สามารถฟันธงไปได้ว่าราเยวัชเป็นของจริงแล้วหรือยัง

มองย้อนประวัติการว่าจ้างโค้ชทีมฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเท่าที่มีการบันทึกไว้ ไทยเปลี่ยนโค้ชมา 32 ครั้ง เป็นคนเก่าบ้างเปลี่ยนหน้าบ้าง ในจำนวนนี้เป็นโค้ชชาวต่างชาติ 13 คน ได้แก่ กุนเธอร์ กลอมบ์ (เยอรมนี) ระหว่างปี 1968-1975, ปีเตอร์ ชนิตต์เกอร์ (เยอรมนี) ปี 1976-1978, แวร์เนอร์ บิคเคลฮอปต์ (เยอรมนี) ปี 1979, บุกฮาร์ด ซีเซ่ (เยอรมนี) ปี 1985-1986, คาร์ลอส โรเบร์โต้ เด คาร์วัลโญ่ (บราซิล) ปี 1989-1991 และปี 2003-2004, ปีเตอร์ สตุ๊บบ์ (เยอรมนี) ปี 1991-1994, ดีตมาร์ คราเมอร์ (เยอรมนี) ปี 1997, ปีเตอร์ วิธ (อังกฤษ) ปี 1998-2003, ซิกฟรีด เฮลด์ (เยอรมนี) ปี 2004, ปีเตอร์ รีด (อังกฤษ) ปี 2008-2009, ไบรอัน ร็อบสัน (อังกฤษ) ปี 2009-2011, วิลฟรีด เชเฟอร์ (เยอรมนี) ปี 2011-2013 และ มิโลวาน ราเยวัช (เซอร์เบีย) ปี 2017-ปัจจุบัน

Advertisement

จะเห็นว่าโค้ชต่างชาติที่คุมทีมช้างศึกจะมาจากยุโรปเป็นหลัก มีเพียงคาร์ลอส โรเบร์โต้ เด คาร์วัลโญ่ คนเดียวที่เป็นชาวบราซิล เหตุผลหนึ่งเพราะในอดีตนั้น “บังยี” วรวีร์ มะกูดี อดีตเลขาธิการและอดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นบอร์ดบริหารสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และสนิทสนมกับ ฟร้านซ์ เบ๊คเค่นบาวเออร์ ตำนานแข้งและโค้ชของ “อินทรีเหล็ก” ทีมชาติเยอรมนีเป็นอย่างดี จึงสามารถเจรจาดึงตัวโค้ชจากยุโรปมาได้หลายราย

วัตถุประสงค์ของการใช้โค้ชต่างชาติ มาจากมุมมองว่า ด้วยประสบการณ์และความคุ้นเคยกับเกมกีฬาฟุตบอลระดับสูงมีมากกว่าโค้ชไทย จึงน่าจะช่วยยกระดับทีมช้างศึกให้สูงขึ้นกว่าเดิม เช่นตอนเปลี่ยนยุคจากซิโก้เป็นราเยวัช ถ้าไม่นับเรื่อง “ล้างบาง” ขั้วอำนาจเก่าหลังเปลี่ยนมือนายกสมาคม รวมถึงปัญหาส่วนตัวนอกสนามแล้ว หลายคนมองว่าฝีมือของซิโก้สุดแค่ระดับเหนืออาเซียน แต่ยังไปไม่ถึงระดับเอเชีย หลังจากผลงานไม่ค่อยดีในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง

แต่โค้ชต่างชาติก็ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จหรือทำได้ตามที่คาดหวังเสมอไป ยิ่งถ้าพิจารณาเกมฟุตบอลลีกยุคนี้ที่นักเตะหลายคนจากทวีปแอฟริกา ลีกลูกหนังยุโรปหลายๆ ลีก จึงไม่ได้เน้นแค่เรื่องเทคนิค แทกติก หรือความสามารถเฉพาะตัวอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของแรงปะทะ การอาศัยความได้เปรียบด้านสรีระเล่นลูกกลางอากาศด้วย บางทีการเน้นไปที่โค้ชยุโรปมากเกินไปอาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมที่สุดก็เป็นได้

ปีเตอร์ วิธ กับคาร์ลอส โรเบร์โต้ เด คาร์วัลโญ่ เคยพาทีมไปได้ไกลที่สุดถึงอันดับ 4 กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ซิโก้ก็เคยทำได้มาแล้วเช่นกัน

ข้อได้เปรียบที่โค้ชไทยอาจจะมีมากกว่าโค้ชต่างชาติคือ บารมีหรือการให้ใจของนักเตะ เพราะถ้าเป็นโค้ชชาวไทยที่มีชื่อเสียง มีดีกรีการทำงานในฐานะนักเตะหรือโค้ชมาก่อน ย่อมทำให้นักเตะเกิดความเกรงใจ เช่นทีมช้างศึกยุคของซิโก้จะมีจุดเด่นเรื่องความมุ่งมั่น วิ่งกัน 90 นาที 120 นาทีไม่มีหมด ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่มีให้เห็นกับยุคปัจจุบัน

สำหรับอนาคตของราเยวัช วงการฟุตบอลยุคนี้สมัยนี้พูดยากว่าต้องให้โอกาสนานเท่าไรถึงจะเหมาะสม บางทีแต่งตั้งได้ไม่กี่เดือน ถ้าผลงานไม่ถูกใจหรือเสี่ยงจะไม่เข้าเป้าก็โดนปลดได้ง่ายๆ แต่บางทีต่อให้ผลงานเลวร้าย สมาคมหรือสหพันธ์ฟุตบอลประเทศนั้นๆ อาจจะยังเชื่อมั่นในฝีมือและให้โอกาสในระยะยาว เหมือนอย่าง โยอาคิม เลิฟ ที่ยังได้คุมทีมชาติเยอรมนีต่อไปแม้ว่าอินทรีเหล็กจะพลิกตกรอบแรกฟุตบอลโลกด้วยฟอร์มน่าผิดหวัง

แต่กรณีของเลิฟนั้นเพราะมีผลงานพิสูจน์ฝีมือให้เห็นมาก่อน จากการปลุกปั้นทีมเมืองเบียร์ขึ้นมาจนมีผลงานโดดเด่นในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ ทั้งระดับยุโรปและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคว้าแชมป์เวิลด์คัพเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รวมถึงเป็นโค้ชที่อยู่กับทีมมานาน เข้าใจจุดเด่น จุดด้อย รวมถึงระบบของทีมเป็นอย่างดี

ราเยวัชไม่ได้อยู่กับทีมชาติไทยนานขนาดนั้น ถึงตอนนี้จะยังยื้อเก้าอี้ต่อไปได้ แต่ทัวร์นาเมนต์หน้าอย่างเอเชี่ยนคัพ ถ้าผลงานยังไม่เข้าตา ก็คงถึงเวลาบอกลากันอย่างจริงจัง

หลังจากนั้นใครจะเป็นตัวเลือกรายต่อไปนั้น ลองมองให้กว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดกรอบแค่ในยุโรป อาจจะเป็นโค้ชฝั่งอเมริกาใต้ หรือเอเชียตะวันออกที่โปรไฟล์ดีๆ ก็อาจน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image