มรสุม ‘ผู้หญิง’ ในการเมือง จาก ‘ยิ่งลักษณ์’ ถึง ‘โบว์’ ประเทศได้ประโยชน์อะไร

จากคลิปฉาว “นักการเมืองดัง” กับ “นักกิจกรรมหญิง” ที่ว่อนอยู่ในโลกโซเชียลจนนำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

ได้สะท้อนภาพ “การเมืองไทย” ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ก็ยังเหมือนเดิม

เมื่อผู้หญิงเข้าสู่สนามการเมือง ไม่ว่าจะในฐานะ “นักการเมือง” หรือ “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง”

“มรสุม” ที่ผู้หญิงเจอ กลับไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลงาน หากเป็น “เรื่องเพศ” ที่ต้องตกเป็นเหยื่อ

Advertisement

นี่ไม่ใช่ “ครั้งแรก” ที่ผู้หญิงถูกลากมา “รุมทึ้ง” กลางสี่แยก

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย โดนมาแล้ว นับครั้งไม่ถ้วน

ตั๊น-จิตภัสร์ กฤดากร ก็ไม่ต่างกัน

Advertisement

และหลายครั้งผู้กระทำมาจากผู้หญิง ผู้หญิงด้วยการก็สร้างความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยกันเอง

เป็นการกระทำที่รุนแรง และไม่เคารพสิทธิการเป็นมนุษย์ อคติและเหยียดหยามทางเพศ ซึ่งขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม และหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะในมาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

และมาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ไม่เพียงเท่านั้น ไทยยังได้ร่วมลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) แห่งสหประชาชาติ

การกระทำเช่นนี้ อาจทำให้นานาชาติมองว่า เรายังไม่เข้าใจประเด็นผู้หญิง

“ฉุด” ประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศที่พัฒนาขึ้นมากแล้ว ให้ “ถอยหลัง” เข้าคลอง

และอาจนำไปสู่การการสร้างความเกลียดชังกันมากขึ้น

เมื่อไหร่การเมืองไทยจะสู้กันอย่างสร้างสรรค์?

คำถามนี้อาจเกิดขึ้นในใจใครหลายคน ที่ลุกขึ้นมา “สะท้อน” ถึงประเด็นดังกล่าว

ที่เอาจริงๆ ไม่ได้สร้างประโยชน์และแก้ปัญหาใดๆ ให้กับคนในชาติแม้สักเล็กน้อย

วิธีที่ดีที่สุด คือ การสร้างทัศนคติเชิงบวก เห็นต่างได้ แต่ไม่ควรนำเรื่องเพศมาชี้วัด “ความดีงาม” ของมนุษย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image