พายุ ‘ปาบึก’ ได้แค่ผ่านประเทศไทย

พายุ “ปาบึก” หรือ PABUK ก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง โหมพัดเข้าฝั่งอ่าวไทย ก่อนลดตัวลงเป็นพายุดีเปรสชั่นข้ามไปยังฝั่งอันดามัน เป็นพายุที่ผู้เฒ่าผู้แก่แถวแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

ต้องหวนให้นึกถึงสมัยที่ตัวเองยังเด็กเมื่อปี 2505 เจอกับพายุ “แฮเรียต” เป็นพายุโซนร้อนเหมือนกันถล่มแหลมตะลุมพุกในขณะนั้น

ผู้เฒ่าบางคนบอกว่าตอนนั้นยังเด็ก ที่รอดมาได้ก็เพราะมุดลงในโอ่งน้ำหน้าบ้าน พอบ้านพังทับลงมาก็ยังรอดชีวิตมาได้

มาวันนี้เหมือนฝันร้าย แต่สุดท้ายผ่านไปด้วยดี ไม่ได้มุดโอ่ง ลุ้นระทึกอีก แต่อพยพหนีเข้าที่ปลอดภัย

Advertisement

เหตุพายุแฮเรียตเมื่อ 25 ต.ค.2505 วัดความเร็วลม 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับที่ “ปาบึก” ก็มาแรงเท่านี้ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 900 ราย สูญหายนับร้อย ผู้คนนับหมื่นสูญเสียบ้านและที่ทำกินไป พายุแฮเรียตกวาดทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด ก่อนพายุอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น เคลื่อนผ่านกระบี่ ภูเก็ต และพังงา ลงสู่ทะเลอันดามันในวันถัดมา

วันนี้พายุปาบึกแตกต่างกับ 56 ปีที่แล้ว นับจนถึงวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา การสูญเสียและบาดเจ็บของผู้คนนั้นแทบจะไม่พบ จะสูญเสียก็เป็นเรืออับปางลงที่ทะเลปัตตานี ลูกเรือจมน้ำดับ 1 และสูญหาย 1 ส่วนประชาชนบนแผ่นดินต่างปลอดภัย

ต้องยกนิ้วโป้งการเตรียมตัวป้องกันและวางแผนอย่างดีของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดในภาคใต้ เจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่ 4 ทหารเรือ และตำรวจ จิตอาสา หน่วยกู้ภัยต่างๆ ระดมอุปกรณ์ยกออกจากโรงเก็บของเข้าช่วยกันอย่างเต็มที่

Advertisement

แม้จะมีเรื่องของทรัพย์สินที่เสียหายก็เป็นเรื่องที่สามารถซ่อมแซมกลับใหม่ได้

ประเทศไทยเคยผ่านเหตุพายุลูกใหญ่มาทุกปี รวมทั้งผ่านเหตุสึนามิ เมื่อ 26 ธ.ค.2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,300 คน สูญหาย 3,370 คน และผ่านมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่วม 65 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้ากว่า 4 ล้านครัวเรือน รวมกว่า 13 ล้านคน

การอพยพผู้คนในเหตุพายุ “ปาบึก” ถือว่าสำคัญมาก ชาวบ้านในพื้นที่ต่างยอมรับว่าต้องหนีเอาตัวรอดก่อน เดิมนิสัยของคนเราจะไม่ยอมละทิ้งบ้านเรือนเด็ดขาด ต่อให้รุนแรงยังไง จะเฝ้าบ้านตัวเองที่ถูกตัดขาดทั้งน้ำและไฟ ในอดีตจึงมีการสูญเสียเกิดขึ้น แต่วันนี้ ภาครัฐสร้างความเข้าใจ เตรียมความพร้อมทุกอย่าง ทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมดูแลบ้านเรือนที่ถูกทิ้งร้างชั่วคราวมิให้ตกเป็นเหยื่อของบรรดาโจรทั้งหลาย

ด้วยเทคโนโลยีที่มีส่วนทำให้การแจ้งข่าวสาร การที่ประชาชนสามารถติดภาพเรดาร์ตลอด 24 ชั่วโมงของกรมอุตุนิยมวิทยา การแจ้งเตือนของกรมอุตุฯ ทันเหตุการณ์ ฉับไว ผู้คนจำนวนหนึ่งสามารถตั้งหลัก รับมือและมีสติ เรือประมง เรือท่องเที่ยวและเรือทุกชนิดต่างจอดหลบกันหมด ส่วนเรือที่อับปางลงในทะเลปัตตานีนั้น ได้รับการแจ้งเตือนแล้ว จึงรีบนำเรือที่จะต้องกลับทะเลสงขลา มุ่งหน้าหลบเข้าอ่าวปัตตานีก่อนจะโชคร้ายที่พายุแปรปรวนทำให้ถูกคลื่นใหญ่ซัดจมดังกล่าว

นับได้ว่าแผนป้องกันและการระดมการช่วยเหลือก่อนพายุบุกเข้ามา ลดการสูญเสียได้อย่างมากมาย เป็นการถอดบทเรียนจนการสูญเสียผู้คนเหลือเกือบศูนย์ ได้อย่างสมบูรณ์แบบจริงๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image