ร่าง “พ.ร.บ.ไซเบอร์” เร็วเวอร์…ระวังเป็น “ไซเก้อ”

เมื่อสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ฟิตจัด นัดพิจารณาร่างกฎหมายร่วม 30 ฉบับ

หนึ่งในนั้นคือ ร่าง “พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….” หรือร่าง “กฎหมายไซเบอร์” ที่เพิ่งผ่าน ครม.มาหมาดๆ เมื่อ 18 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา

จากนั้น “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ” ก็ทำหนังสือถึงประธาน สนช.เมื่อ 27 ธันวาคม ขอให้พิจารณาเป็นวาระด่วน

รุ่งขึ้น 28 ธันวาคม สนช.ก็มีมติรับหลักการทันควัน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาทันที

Advertisement

ร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ที่เข้า สนช.ฉบับนี้ ว่ากันว่าเป็นร่างของคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่เรียกกันว่าร่างของ”คณะผู้ทรงคุณวุฒิ” ซึ่งมีเนื้อหาต่างไปจากร่างเดิมที่กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เคยนำเสนอและผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว

สาระสำคัญที่เปลี่ยนไปจากร่างเดิมคือมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามากมายหลายชุด ไม่ว่าจะเป็น “คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” มีตัวย่อว่า “กปช.” ภาษาอังกฤษคือ “National Cybersecurity Committee” ตัวย่อ “NCSC” มีนายกฯเป็นประธาน

ยังมี “คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ตัวย่อ “กกซ.” มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน ยังมี “คณะกรรมการส่งเสริมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ” ตัวย่อ “กสส.” มีรมว.ดีอี เป็นประธาน แถมยังเปิดช่องให้ “กปช.” ตั้งคณะกรรมเฉพาะด้านอื่นได้อีก แล้วก็ยังมี “คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” ชื่อย่อ “คกส.” มีรมว.ดีอี เป็นประธาน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แบ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็น 3 ระดับ คือ 1.เฝ้าระวัง 2.ร้ายแรง และ3.วิกฤติ

สำหรับการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคาม “ระดับร้ายแรง” เจ้าหน้าที่สามารถยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ โดยให้ “กปช.” หรือ “กกซ.”ยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนฉุกเฉิน

ที่น่าสนใจคือ หากเป็นภัยคุกคาม “ระดับวิกฤต” ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้

นอกจากนี้ “กปช.”มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ให้แจ้งต่อศาล

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในบทเฉพาะกาลที่ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกที่ยังไม่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
ตามพ.ร.บ.นี้ ให้นายกฯใช้อำนาจตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 จัดตั้งสำนักงานฯชั่วคราว

เนื้อหาร่างกฎหมายนี้จะว่าไปก็ดีกว่าร่างกฎหมายเดิม แต่ทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนยังท้วงติงถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้ายึดอายัดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล

นอกจากนี้ยังมีประเด็นขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายนี้ ที่เร่งรีบและบายพาสขั้นตอนต่างๆ เพราะร่างฉบับผู้ทรงคุณวุฒินี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

แต่ครม.อ้างว่าเป็นร่างที่ปรับปรุงใหม่จากร่างของกระทรวงดีอี ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ก็ไม่รู้จะฟังขึ้นหรือไม่ เพราะที่ปรับปรุงนั้นมีสาระสำคัญต่างจากร่างเดิมมากพอสมควร

หากมีใครยกประเด็นขึ้นมาร้องเรียนว่าร่างกฎหมายนี้ข้ามขั้นตอน จนเป็นเหตุให้แท้ง…กฎหมาย “ไซเบอร์” อาจกลายเป็นกฎหมาย “ไซเก้อ” …ไปฉิบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image