ฟังหูไว้หู “พ.ร.บ.ข้าว”ใครได้-เสียประโยชน์

กลายเป็นข่าวฮือฮา ปมร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ… ได้ผ่านการพิจารณาของสนช.วาระ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณา ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2-3 ในเร็วๆนี้

ปมที่น่าสนใจ หากฟังมุมมองของนายทุนจากปากของ “เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ออกมาท้วงติงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุว่า กฎหมายเน้นการคุ้มครองสิทธิ์และให้ความเป็นธรรมกับชาวนา สะท้อนว่ามุมมองของบุคคลภายนอกหรือแม้แต่ผู้ยกร่างกฎหมายนี้ มองว่าโรงสีเป็นผู้เอาเปรียบชาวนาจึงต้องหาวิธีการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลโรงสีจนเกินความจำเป็น

ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า มีจุดที่น่าจะเป็นปัญหา เพราะยังไม่ได้แก้ไขประเด็นใหญ่ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจและการทำการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรา 27 กฎหมายให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นหมายความว่า ชาวนาที่ทำเกษตรและมีวิถีชีวิตในการเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เองแบบในอดีตจะไม่สามารถทำได้ เพราะมีโทษสูงถึงจำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ต้องเข้าใจระบบก่อนว่า ชาวนามีการเก็บและพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้เอง ทำให้เกิดพันธุ์ดี ๆ เช่น ข้าวเสาไห้ หรือข้าวสังข์หยด แต่การพัฒนาโดยชาวนาจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ระบบบริษัทที่จะมีการขึ้นทะเบียนรับรอง หากกฎหมายมีผล นอกจากจะไม่สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์แล้ว ยังกำหนดโทษสูงถึง จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

Advertisement

ขณะเดียวกัน ผมก็อยากได้ยินแง่มุมของชาวนาว่าคิดเรื่องนี้อย่างไร จึงขออนุญาตนำข้อมูลจากคุณวีระ สุดสังข์ ที่เขียนผ่านเฟซบุ๊ค ทำให้ได้เห็นมุมมองวิถีชาวนาไว้อย่างน่าสนใจ

คุณวีระ ระบุว่า ฤดูหนาวปี 2529 ผมได้ไปนอนที่ทุ่งนาแห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี เห็นชาวนาเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยว บรรจุกระสอบและขายข้าวหมดทั้งนา “ไม่เก็บไว้ทำพันธุ์และไม่เก็บไว้กิน” เมื่อจะกินข้าวชาวนาซื้อข้าวสารจากตลาด เมื่อจะทำนาอีกรอบหนึ่งชาวนาซื้อพันธุ์ข้าวจากร้านขายสินค้าเกษตร

ผมรู้สึกแปลกใจว่า “ทำไมเป็นอย่างนี้” ในฐานะลูกชาวนาและเคยทำนา เมื่อรวงข้าวสุกเหลือง พ่อแม่จะคัดเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ไว้ทำพันธุ์ในปีต่อไป เมื่อนำข้าวขึ้นยุ้ง แบ่งไว้กินส่วนหนึ่งและแบ่งไว้ขายส่วนหนึ่ง
หลังปี 2530 ชาวนาภาคอีสานเริ่มทำนาหว่านเหมือนชาวนาภาคกลางและไม่มีการคัดเมล็ดข้าวไว้ทำพันธุ์ หันมาใช้รถเกี่ยวแทนคนเกี่ยวข้าว ยังดีที่ชาวนาเก็บข้าวไว้กินส่วนหนึ่งและขายไปส่วนหนึ่ง

Advertisement

การทำนาในยุคจักรกลและยุคดิจิตอลทำให้ “ชาวนายุคใหม่ในฐานะผู้จัดการนา ไม่มีเวลา ไม่มีความอดทนและไม่มีความรู้ในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว” เมื่อจะทำนาในปีต่อไปจึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านขายสินค้าเกษตร

หลังปี 2550 เป็นต้นมา สังเกตเห็นว่า ชาวนาเกี่ยวข้าวขายหมดนาเหมือนชาวนาภาคกลางปี 2529 แล้วเริ่มหันมาซื้อข้าวสารกิน เมื่อจะทำนาในปีต่อไปจึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านขายสินค้าเกษตร
ปี 2561 ผมตกตะลึงที่เห็นรถขายข้าวสาร เร่ขายข้าวสารตามหมู่บ้านและมีชาวบ้านซื้อข้าวสารไว้กินในครัวเรือน ผมมึนงงกับวิถีชาวนาที่เปลี่ยนไปอย่างมาก

มีข่าวว่า “กฎหมายห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์ข้าว ฝ่าฝืนติดคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท ” ผู้คนออกมาแสดงอาการอย่างเกรี้ยวกราด โกรธแค้น และแสดงความคิดเห็นต่างๆนานา ส่วนผมคิดว่า “แม้จะมีหรือไม่มีกฎหมายห้าม ผมก็เชื่อว่า ชาวนาส่วนใหญ่ไม่เก็บพันธุ์ข้าวอยู่แล้ว ชาวนาที่พยายามจะเก็บพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเองมีน้อยมากที่สุดจนแทบนับรายได้” ทั้งนี้เพราะ “ชาวนายุคใหม่ในฐานะผู้จัดการนา ไม่มีเวลา ไม่มีความอดทนและไม่มีความรู้ในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว”

ทางออกที่ดีคือกรมการข้าวควรให้ความรู้แก่ชาวนายุคใหม่ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าว กระตุ้นและส่งเสริมให้ชาวนาเก็บพันธุ์ข้าวด้วยตนเอง แต่ผมก็ยังเชื่อว่า ชาวนาไม่ทำอย่างนั้นอยู่ดี ฉะนั้นจึงไม่ต้องดราม่ากับชาวนา
งานนี้…เห็นที่เราต้องฟังหูไว้หูเสียแล้วว่า เจตนารมย์ของร่างพ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ ระหว่างโรงสี พ่อค้าคนกลาง กับชาวนาใครได้หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน ….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image