ตั้งสติให้ดี…ศึกเลือกตั้งเข้ม-เกมการเมืองแรง

การเมืองคึกคัก เข้มข้น รับศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ ระหว่างทางก็มีเรื่องราวให้ฮือฮา เป็นระยะ

อย่างเหตุการณ์เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ ที่พรรคไทยรักษาชาติ ต้องลุ้นระทึกว่าจะถูกยุบพรรคหรือไม่ จากกรณีเสนอชื่อแคนนิเดตนายกฯของพรรค

ล่าสุดก็เกิดกระแสร้อนแรง เมื่อ “หญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายหั่นงบประมาณกระทรวงกลาโหม 10% และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

เกิดปฏิกริยาโต้กลับจาก “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวจากกรณีดังกล่าวว่า “ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน”

Advertisement

พร้อมสั่งการให้กรมกิจการพลเรือนทหารบก นำเพลงแนวปลุกใจทหาร เช่น เพลงหนักแผ่นดิน และเพลงมาร์ชกองทัพบก ไปเปิดในค่ายทหารวันละ 3 เวลา

กลายเป็นประเด็มกระหึ่มในสื่อโซเชียล

ขณะเดียวกันยิ่งทำให้การแบ่งขั้ว “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้แหลมคมขึ้น
แต่ทว่า “ประชาธิปไตย” ที่แต่ละพรรคยกขึ้นมานั้น ก็มีความเข้าใจ และแนวทางแตกต่างกันไป

Advertisement

“ประชาธิปไตย” ของพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคอนาคตใหม่ อาจจะใกล้เคียงกัน

แต่ต่างกับ “ประชาธิปไตย” ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย  แล้วก็ต่างกับ “ประชาธิปไตย” ของพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา

ขณะที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ก็พยายามแปลงร่างเป็น “ประชาธิปไตย” กับเขาด้วย

จะว่าไปเผด็จการในยุคที่ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เข้ามายึดอำนาจและบริหารประเทศ ก็มีแฟนคลับส่วนหนึ่ง ที่พอใจกับการทำหน้าที่ของ “บิ๊กตู่” โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่ได้ใจ ได้คะแนนนิยมไปไม่น้อย

ก็ต้องรอลุ้นกันว่าหลัง 24 มีนาคม การเมืองจะออกทางขั้วไหน

แต่ขณะระหว่างการหาเสียงที่หลายพรรคมักจะเน้นโจมตีฝ่ายตรงข้าม ที่ทำให้เกิดความชิงชัง มากกว่าจะชิงชัยด้วยนโยบาย เกิดการตอบโต้กันด้วยอารมณ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะกองเชียร์ทั้งสองขั้ว

อยากให้ฟังคำแนะนำของ “นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ว่า อย่าอินกับข่าวสารมากเกินไป อาจเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว เมื่อเจอความเห็นที่ต่าง

นพ.ยงยุทธมองว่า “การแสดงความเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองและค่อนข้างรุนแรงนั้นเป็น “ประชาธิปไตยแบบอ่อนหัด” ที่เริ่มต้นก็แสดงความเห็นรุนแรงต่อกัน แต่เมื่อประชาธิปไตยสุกงอม มีวุฒิภาวะมากขึ้นก็จะเริ่มมองความเห็นต่างเป็นโอกาสมากกว่าศัตรู”

พร้อมย้ำว่า “แม้ว่าเราจะมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหน ก็ต้องการให้เกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้สังคมไทยมีทางออก”

สรุปแล้วก็ขอให้มีสติในรับรู้ข่าวสาร ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของนักการเมืองทั้งหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image