อาการลักลั่นของกกต. “ท้องถิ่น” กับ “การวางตัวเป็นกลาง”

ถือว่าพลิกมุม 360 องศา เลยทีเดียวกรณี กกต.ตอบข้อหารือของปลัดกระทรวงมหาดไทยในเรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้

โดยเมื่อ 20 ก.พ. ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาฯ กกต. แจ้งกลับว่า ทั้ง”ผู้บริหารท้องถิ่น”หรือ”สมาชิกสภาท้องถิ่น” ให้การแนะนำหรือช่วยเหลือการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองได้

แต่ เมื่อ 18 ก.พ. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.เพิ่งกล่าวตอบข้อซักถามพรรคภูมิใจไทยถึงกรณีให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือสมาชิกสภาเขต ประธานสภาเขตหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นเข้าร่วมช่วยเหลือหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนผู้สมัครในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จะสามารถกระทำได้หรือไม่

คำตอบออกมาว่า “สามารถกระทำได้”

Advertisement

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ขยายความกับสื่อด้วยว่า “เรื่องนี้เป็นมติของกกต.เอง ด้วยมองว่าคนเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นเพียงสมาชิกไม่มีอำนาจในตัวเอง แต่ถ้าเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทจะทำไม่ได้ ซึ่งก็เหมือนแต่ก่อนถ้ามีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็ไปช่วยหาเสียงให้พรรคตัวเองได้”

ลักลั่นกันพอสมควร เพราะ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ อ้างมติกกต.ที่ให้ “สมาชิกสภาท้องถิ่น” ช่วยผู้สมัคร ส.ส.ได้

การลักลั่นไม่ใช่แค่ตรงนี้ ย้อนไปเมื่อ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา นายสมพล พงษ์พิพัฒน์ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดนครพนม ยืนยันเป็นไม้บรรทัดว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ต้องไม่ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่กระทำการใดอันเป็นคุณเป็นโทษกับพรรคการเมือง รวมถึงว่าที่ผู้สมัครต้องวางตัวเป็นกลาง หากมีการขึ้นเวที หรือกระทำการใดในการช่วยว่าที่ผู้สมัครหาเสียง ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย นอกจากกฎหมายเลือกตั้ง ยังมีมติคณะรัฐมนตรี ปี 2539 ที่ออกระเบียบไว้ ในเรื่องกำชับให้วางตัวเป็นกลาง”

Advertisement

นายสมพลยังบอกว่า กกต.นครพนม ได้มีหนังสือเสนอผวจ.นครพนม เมื่อ 3 ม.ค. 2562 ในการออกคำสั่งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงบุคคลที่กฎหมายบังคับไว้ ในการวางตัวเป็นกลาง ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน 2551 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ทุกหน่วยงาน

ตอนท้ายย้ำว่า “ขอเน้นย้ำให้ทำความเข้าใจ หากมีการกระทำผิด ไม่ว่าจะมีการร้องเรียน หรือไม่ร้องเรียน หากมีข้อมูล หรือรับทราบจากช่องทางไหนก็ตาม ทาง กกต.จะต้องมีการสืบสวน รวบรวมหลักฐาน ส่งสรุป ส่งกกต.กลาง พิจารณา หากเข้าข่ายความผิด จะต้องลงโทษทางกฎหมาย มีทั้งวินัย อาญา โทษ ขั้นติดคุก”

คำพูดของกกต.นครพนม เป็นผลมาจาก นายก อบจ.นครพนม รวมถึง ส.อบจ.ขึ้นเวทีสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเมื่อ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา เข้าข่ายข่ายความผิดในการวางตัวเป็นกลาง ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน 2551 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 รวมถึงคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ออกไว้

หากยึดคำสั่งของกกต.หน่วยเหนือ เท่ากับ ข้อพิจารณาของนครพนมเป็นอันตกไปโดยปริยาย

หลายคนสงสัยว่า โดยเฉพาะผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม ทำนองการตอบคำถามปลดล็อกของกกต.แบบนี้ จะเอาไงดี หวั่นว่าจะมีกล่าวหาในภายหลังขึ้นมา เพราะกฎหมายฉบับใหญ่ยังคงมีผลผูกพันไปตลอด หลังจบเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะต้องเลือกตั้งท้องถิ่นกันต่อ ขืนผิดคุณสมับติของผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นมา อนาคตวูบทันที

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image