ธุรกิจต้องรู้ ”รวมกันเราอยู่” อย่างไร ไม่ผิด กม.แข่งขัน

จากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่นับวันจะเติบโตในอัตราต่ำลงๆ สวนทางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ที่จะทำอย่างไรที่จะคงฐานลูกค้า หรือ มีจุดยืนในตลาดการค้าให้ได้

หนึ่งในยุทธวิถีคือ การควบรวมธุรกิจ การจับมือเพื่อให้ขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น และลดต้นทุน!!!

อย่างที่เห็นๆกันอยู่ในหลายธุรกิจขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารควบธนาคาร หรือ การถือหุ้นข้ามธุรกิจอย่าง กลุ่มค้าปลีกกับบริษัทให้บริการขนส่งฯ

เชื่อว่าจากนี้ แนวคิด “รวมกันเราอยู่” จะกลับมาอีกครั้ง ที่เกิดขึ้น 2-3 ราย จะเป็นแค่น้ำจิ้ม

Advertisement

ซึ่งเรื่องนี้ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ก็ได้ให้ความกระจ่างเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับรู้ เข้าใจ และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

เพื่อไม่ต้องเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ไว้ว่า

ขั้นตอนที่ 1 ต้องรู้เบื้องต้นว่าอย่างไรจึงจะถือเป็นการรวมธุรกิจตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าการเข้าซื้อหุ้นหรือซื้อสินทรัพย์ของธุรกิจอื่น หากมีเจตนา เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารธุรกิจ หรือการจัดการ ให้ถือว่าเป็นการรวมธุรกิจ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การพิจารณา
ดังนี้ 1.กรณีซื้อหุ้น ถ้าเป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องเป็นการเข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ ร้อยละ 25 ขึ้นไป ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด แต่ถ้าเป็นหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้พิจารณา จากการเข้าซื้อหุ้น ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 2.การซื้อสินทรัพย์ กำหนดให้ต้องเข้าซื้อสินทรัพย์ของธุรกิจอื่น ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจตามปกติทั้งหมดสรุปก็คือ การเข้าซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ของธุรกิจอื่นเป็นเรื่องที่ต้องรู้เบื้องต้นว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ เข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจหรือไม่ (กรณีกลุ่มเซ็นทรัลซื้อหุ้นบริษัท แกร็บประเทศไทย ไม่เข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจ เนื่องจากเป็นการซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงร้อยละ 30

Advertisement

ขั้นตอนที่ 2 ต้องรู้ว่าอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาต ลำดับต่อไปเมื่อรู้ว่าเป็นการรวมธุรกิจตามกฎหมาย สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อคือ จะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ตรงนี้กฎหมาย เขียนไว้ชัดว่า เมื่อรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ต้องขออนุญาต ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ได้แก่ ต้องมีส่วนแบ่งตลาด ในตลาดใดตลาดหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หากรวมธุรกิจกันแล้วเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อนการรวมธุรกิจ

ขั้นตอนที่ 3 ต้องรู้ว่าอย่างไรจึงจะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจให้ทราบ กรณีนี้ไม่ยาก เนื่องจาก กฎหมายกำหนดไว้ว่าการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่ถึงขั้นการเป็น ผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าการรวมธุริจที่มียอดเงินขายรวมกันในตลาดใดตลาดหนึ่ง ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจให้คณะกรรมการทราบ ภายใน 7 วัน

พร้อมตบท้ายว่า เชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจ ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น และขอให้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะหากฝ่าฝืน กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ

ไม่อย่างนั้น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดนี้เอาจริง!!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image