‘ไอโอซี’ แบน ‘ไอบ้า’ จัดมวยโอลิมปิก ยาแรงที่อาจไม่ได้ผล?

ท่าทีของบอร์ดบริหาร คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ซึ่งเพิ่งมีมติลงโทษ สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (ไอบ้า) ห้ามทำหน้าที่จัดการแข่งขันมวยสากลใน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปีหน้า คล้ายจะสื่อว่า องค์กรสูงสุดของโลกกีฬาตั้งใจจะขุดรากถอนโคนปัญหาที่คาราคาซังในวงการมวยสากลมายาวนาน

เดิมนั้น หลายคนมองว่าไอโอซีแค่ “ขู่” ไอบ้าเรื่องตัดสิทธิการจัดชิงชัยกีฬามวยโอลิมปิกเพื่อกดดันให้สหพันธ์ถอด กาฟูร์ ราคิมอฟ นักธุรกิจชาวอุซเบกิสถานออกจากตำแหน่งประธานไอบ้า เนื่องด้วยราคิมอฟมีประวัติเกี่ยวพันกับแก๊งมาเฟียในประเทศ แถมลือกันว่าทำธุรกิจผิดกฎหมาย จนโดนกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำ

แต่เอาเข้าจริงๆ ถึงราคิมอฟจะยอมถอยด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานไอบ้าแล้ว ไอโอซีก็ยังเดินหน้าลงดาบสหพันธ์ต่อไปอยู่ดี

ท่าทีของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในครั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์รอบนอกยังเดากันไม่ออกว่ามีนัยแอบแฝงใดๆ หรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงๆ ไอโอซีเพิ่งจะมาเคลื่อนไหวกดดันไอบ้าอย่างจริงจังก็เมื่อ ชิง กั๊วะ หวู ประธานคนเก่าชาวไต้หวันที่เป็นบอร์ดไอโอซีอยู่ด้วยเริ่มเพลี่ยงพล้ำ เมื่อราวๆ กลางปีที่แล้ว หลังจากพยายามต่อสู้กันทางกฎหมายและการเมืองภายในองค์กรอยู่นาน

Advertisement

แต่ถ้าเป็นเจตนาที่จะสะสางปัญหาภายในของไอบ้าจริงๆ ก็คงต้องบอกว่านี่เป็นภารกิจใหญ่ที่ไม่มีทางราบรื่นอย่างแน่นอน

ไอบ้าโดนวิจารณ์เรื่องความโปร่งใสในการตัดสินและการคอร์รัปชั่นในองค์กรมานาน ตั้งแต่ยุคของอดีตประธานผู้ล่วงลับ อันวาร์ ชอว์ดรี้ ไล่มาถึงยุคของชิง กั๊วะ หวู ซึ่งแม้จะเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ก็ไม่พ้นคำครหาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก การแบ่งสรรค์ปันส่วนเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬารายการใหญ่ๆ โดยเฉพาะโอลิมปิกเกมส์

ใครพาวเวอร์ดี มีคนรู้จักกว้างขวาง ก็อาจจะล็อบบี้หลังเวทีให้ผู้ตัดสินกดคะแนนเอื้อประโยชน์ให้ได้ แม้แต่กระบวนการวางตัวกรรมการให้คะแนนแต่ละไฟต์ก็มีช่องโหว่ เพราะให้อำนาจบุคคลเดียวในการกำหนดตัวบุคลากรที่จะทำหน้าที่ (ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ระบบสุ่มด้วยคอมพิวเตอร์เมื่อไม่นานมานี้) จึงเอื้อให้เกิดการล็อกผลง่ายขึ้น

Advertisement

ถึงจะจัดการบุคลากรระดับคีย์แมนไปได้ ถ้าฐานเสียงส่วนใหญ่ของแต่ละขั้วอำนาจยังอยู่ ปัญหาก็น่าจะยังคาราคาซัง

แต่ถ้าจะล้างบางทั้งหมด หรือทำเรื่องใหญ่ขนาดยุบไอบ้าแล้วตั้งองค์กรใหม่ไปเลย ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ตัวแทนของแต่ละชาติที่จะขึ้นมาทดแทนนั้น มีความพร้อมและโปร่งใสขนาดไหนด้วย

อันที่จริงอาจไม่ถึงขั้นกวาดล้างฐานอำนาจเดิมทั้งหมดก็ได้ แต่จำเป็นต้องตีกรอบกฎ กติกา รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างองค์กรเพื่อควบคุมการทำหน้าที่ของบุคลากรแต่ละระดับให้เป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ขึ้นมา

นอกจากปัญหาในส่วนของการปฏิรูปไอบ้าแล้ว การแก้ปัญหาแบบ “หักดิบ” ของไอโอซีเวลานี้ก็เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงไม่น้อยไปกว่ากัน

ไอโอซีระงับสิทธิการจัดแข่งกีฬามวยสากลโอลิมปิกเกมส์ 2020 และเตรียมตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่แทน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อไม่ให้กระทบกับนักกีฬาทั่วโลกที่เตรียมตัวชิงโควต้าร่วมแข่งขัน

ปัญหาคือการตัดสินใจของไอโอซีขณะเหลือเวลาอีกเพียงปีเศษก่อน “โตเกียวเกมส์” เปิดฉาก อาจจะกะทันหันเกินไป

ไอโอซีระบุตั้ง โมรินาริ วาตานาเบะ ประธานสหพันธ์ยิมนาสติกนานาชาติชาวญี่ปุ่นเป็นหัวหน้าคณะทำงานฉุกเฉินที่ต้องรอการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ไอโอซีปลายเดือนมิถุนายนนี้ก่อน

ตัววาตานาเบะเองยอมรับตรงๆ ว่า โดนมอบหมายงานมาแบบไม่ทันตั้งตัว และไม่รู้เรื่องใดๆ เกี่ยวกับกีฬามวยเลย จะเริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูลรวมถึงพูดคุยกับตัวแทนนักกีฬาและสต๊าฟโค้ชชาติต่างๆ เพื่อวางโครงสร้างและรูปแบบของการแข่งขันคัดเลือกโควต้าโอลิมปิกเกมส์ต่อไป

ปัญหาคือ ปัจจุบันไอบ้ากำหนดเรื่องคิวแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เพื่อคัดโควต้าโอลิมปิกเกมส์ไว้หมดแล้ว นักกีฬาแต่ละชาติก็วางแผนการฝึกซ้อมเพื่อร่วมแข่งขันตามกำหนดเวลาต่างๆ แล้ว ไอโอซีระงับสิทธิการจัดแข่งโอลิมปิกเกมส์ แต่ระงับสิทธิไอบ้าในการจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์เหล่านี้ด้วยหรือไม่?

ถ้าไม่ได้ยกเลิกทัวร์นาเมนต์เหล่านี้ หรือจะเข้าไปกุมอำนาจการจัดการแข่งขันแทนไอบ้าในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ แทน?

และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือ คณะทำงานชุดนี้จะมีคนรู้เรื่องกีฬามวยมากถึงขั้นเข้าไปดำเนินการในขั้นตอนสำคัญอย่างการตัดสินได้หรือไม่? เพราะที่สุดแล้ว คนที่จะทำหน้าที่กรรมการและผู้ตัดสินได้ยังไงก็ต้องเป็นคนของไอบ้าหรือผ่านการรับรองมาตรฐานจากไอบ้าอยู่ดี

ถ้าการจัดการออกมาเละเทะก็ไม่วายโดนฝ่ายนักกีฬาและสต๊าฟโค้ชวิจารณ์เอาเสียๆ หายๆ ว่าเหมือนเอาอนาคตหรือความฝันของพวกเขาเป็น “ตัวประกัน” ในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร

ดังนั้น สิ่งที่คณะทำงานของไอโอซีพอจะทำได้ในตอนนี้ก็คือการหาบุคลากรในแวดวงมวยที่ไว้ใจได้มาช่วยประสานงานและวางแนวทางปฏิบัติตั้งแต่การแข่งขันคัดเลือกไปจนถึงการแข่งขันจริงในโอลิมปิกเกมส์ โดยที่ตัวคณะทำงานมีหน้าที่วางกรอบ ควบคุม และสอดส่องให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด

การตัดสินมวยไปตามเนื้อผ้านั้นไม่ใช่เรื่องยากถ้ามวยคู่นั้นห่างชั้นหรือเชิงมวยเหนือกว่ากันจริงๆ แต่ถ้าเป็นมวยที่สูสี ก็ต้องทำใจยอมรับไว้ล่วงหน้าก่อนว่าจะต้องมีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือตั้งคำถามตามมาแน่นอน

ทำอย่างไรจะควบคุมฟีดแบ๊กเชิงลบให้น้อยที่สุดตั้งแต่รายการคัดเลือกไปจนถึงการแข่งขันจริงในโอลิมปิกเกมส์ และเมื่อทุกอย่างจบลงแล้ว จะเอาอย่างไรต่อไปกับไอบ้าที่โดนระงับสิทธิชั่วคราว ค้างๆ คาๆ กันอยู่อย่างนี้

นั่นเป็นเรื่องที่ไอโอซีต้องเร่งขบคิดในเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนักหลังจากนี้!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image