นิวส์รูมวิเคราะห์: เมื่อนักการเมืองขอตรวจสอบ “อีอีซี”

เรื่องของรอยต่อรัฐบาลระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยกัน มีงานสำคัญมากมายที่พยายามไม่ให้สะดุด โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจให้กับเหล่านักลงทุนต่างประเทศในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ถูกชูเป็นแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard

การบุกเบิกอีอีซีที่เป็นเมกกะโปรเจค เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จะประเดิมขับเคลื่อนก่อน รัฐบาลของบิ๊กตู่หวังจะให้เป็นผลงานสำคัญและเกิดขึ้นให้ได้ การดึงศักยภาพของ 3 จังหวัดที่ถูกเลือก  เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทั้งโครงข่ายคมนาคม อุตสาหกรรม ท่าเรือ และการท่องเที่ยว

ตัวเลขระบุว่า ตลอดปี 2558-2561 หรือ 4 ปีระหว่างนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี มีสัดส่วนถึง 54% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด โดยครึ่งแรกของปี 61 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น 122% มูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.8 แสนล้านบาท

แต่เมื่อสภาพการณ์ของบ้านเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนจะมีโอกาสได้รับรู้ถึงโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ผ่านการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ของตัว ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งมา มิใช่การให้ข่าวมุมเดียวของซีกรัฐบาลเดิม

Advertisement

น่าสนใจทีเดียว  น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาแถลงว่า ทางพรรคจะเสนอประธานสภาผู้แทนฯ  เพื่อยื่นญัตติด่วนขอตั้ง “คณะกรรมาธิการศึกษาโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)”

น.ส.ศิริกัญญา ระบุถึงการเตรียมยื่นญัตติครั้งนี้ว่า อีอีซีเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนเฉพาะของภาครัฐกว่า 6 แสนล้านบาท การลงทุนร่วมกับภาคเอกชนอีกกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ยังมีการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนทั้งมาตรการภาษี กรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ กลับยังไม่เห็นแน่ชัดเป็นรูปธรรม

“ต้องตั้งคำถามกันต่อว่า เม็ดเงินการลงทุนนี้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว จะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะจะสร้างผลกระทบให้กับประชาชน”

ส.ส.หญิงอนาคตใหม่ยังกล่าวอีกว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ ไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่ควรให้ประชาชนและภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ จะนำไปสู่มาตรการเยียวยาที่เป็นธรรม พรรคอนาคตใหม่ยังได้ตั้งโครงการ Eastern life corridor เป็นแพลตฟอร์มคู่ขนานขึ้นมาด้วย

หากย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการตั้งรัฐบาลและมีฝ่ายค้านที่เป็นตัวเป็นตนชัดเจน อีอีซีมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกมารองรับ ก็เริ่มมีการพูดถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการอีอีซีเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน เพื่อให้โครงการนี้เกิดความกระจ่างชัดในการทำหน้าที่ของมันเอง

การทำหน้าที่ตรวจสอบของพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องดีคู่ขนานไปกับการเดินหน้าของโครงการที่ใช้เม็ดเงินลงทุนร่วมกันมหาศาล

เป็นเรื่องดีของประชาชน เป็นเรื่องดีของทุกฝ่าย และโดยเฉพาะภาคเอกชนที่ขนเงินมาเทลงในพื้นที่อีอีซีแล้ว การตรวจสอบจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับอีอีซีด้วยซ้ำ

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image