นิวส์รูมวิเคราะห์ : ประมูล “อี-พาสปอร์ต” 2 รอบ เสียงวิจารณ์ จ่อเข้าสภาฯ

pixabay

ขณะที่กำลังลุ้นโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ ที่ยืดเยื้อมานาน ทางพรรคฝ่ายค้านไม่รีรอ ตั้งแท่นรวบรวมข้อมูลบรรดาโครงการต่างๆ ที่ส่อว่าจะไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะที่จ่อทิ้งทวนก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดปัจจุบัน

หนึ่งในโครงการที่ฝ่ายค้านเตรียมขุดขึ้นมาชำแหละ นั่นคือการประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์(อี-พาสปอร์ต) ระยะที่ 3 ของกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 15 ล้านเล่ม ที่เพิ่งประกาศผลว่า “กิจการร่วมค้า DGM” เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ในวงเงิน 7.4 พันล้าน

โครงการนี้มีอะไรให้ฝ่ายค้านสนใจยกขึ้นมาซักฟอก

ย้อนไปเมื่อ 11 เมษายน 2561 กระทรวงการต่างประเทศเปิดประกวดราคาโครงการดังกล่าว

Advertisement

ปรากฏว่ามี 4 รายยื่นซองประกวดราคา

1.กิจการร่วมค้าจันวาณิชย์ 2.กิจการร่วมค้า TIM (บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท IDEMIA (ฝรั่งเศส) MSC และ CP) 3.กิจการร่วมค้า WIN (บริษัท สามารถ บริษัท ศิริวัฒนาซีเคียวริตี้พริ้นท์, บริษัท MSCS สิทธิผล จำกัด และเดอร์มาล็อก โอเดนติฟิเคชั่น ซิสเต็มส์ จีเอ็มบีเอช (เยอรมัน) ) และ 4.กิจการร่วมค้า DGM (บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง ฟอร์ม จำกัด และบริษัท Gemalto)

แต่เมื่อ 17 สิงหาคม 2561 กระทรวงต่างประเทศออกประกาศล้มการประกวดราคาดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า “มีผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียว จึงเห็นควรยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้”

รายเดียวที่ผ่าน แต่แห้วไปคือ “กิจการร่วมค้า WIN”

ต่อมากระทรวงการต่างประเทศเปิดประกวดราคารอบใหม่ ให้ยื่นข้อเสนอและราคา 28 มีนาคม 2562 และประกาศผู้ชนะการเสนอราคา 8 พฤษภาคม 2562

ที่น่าสนใจก็คือทีโออาร์รอบใหม่นี้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ จากเดิม รอบแรกที่ล้มประมูลไป ในข้อ (6) ระบุว่า“ปรุภาพเสมือนภาพจริงด้วยเลเซอร์(Image Perforation using Laser) หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เทียบเท่า เป็นรูปใบหน้าของผู้ถือหนังสือเดินทางบนหน้าข้อมูล”

แต่ทีโออาร์รอบใหม่ ในข้อ (6) ระบุว่า “สร้างภาพเสมือนภาพจริงด้วยเลเซอร์เป็นรูปใบหน้าของผู้ถือหนังสือเดินทางบนหน้าข้อมูล”

ผลปรากฏว่า “กิจการร่วมค้า DGM” เป็นผู้ชนะ ว่ากันว่าคะแนนเฉือน”กิจการร่วมค้าจันวาณิชย์” เพียง 0.6 คะแนน แต่เสนอราคาสูงกว่า 466 ล้านบาท

ถึงแม้ราคาจะสูงกว่า แต่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่าเป็นใช้เกณฑ์การประเมิน price performance โดยกำหนดสัดส่วนคะแนนด้านราคาไว้ที่ 40% และคะแนนด้านประสิทธิภาพที่ 60% ดังนั้นผู้ชนะจึงไม่จำเป็นที่ต้องเป็นเสนอราคาต่ำสุด แต่ต้องได้คะแนนราคา-ประสิทธิภาพรวมสูงสุด

ในทีโออาร์รอบใหม่ตัดข้อความที่ระบุคุณสมบัติเทคโนโลยี “Image Perforation” ออกไป และ”กิจการร่วมค้า DGM” ก็เป็นรายเดียวที่ไม่เสนอเทคโนโลยี “Image Perforation” แต่เสนอเทคโนโลยี “Window Lock” ส่วนอีก 3 กลุ่มเสนอใช้เทคโนโลยี “Image Perforation” ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน

กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ทีโออาร์กำหนดคุณลักษณะให้เปิดกว้างรับเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เดิม หรือเทคโนโลยีใหม่ แต่ที่สำคัญรูปแบบด้านความปลอดภัยต้องเทียบเท่าหรือดีกว่าที่กำหนดไว้ในระยะที่ 2

แต่ทว่า “เทคโนโลยีใหม่” ที่ระบุว่าเป็นการเปิดกว้างนั้น ในขณะนี้มีเพียงเทคโนโลยีเดียวนั่นคือ “Window Lock” ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของบริษัทในเครือบริษัทที่ร่วมอยู่ใน “กิจการร่วมค้า DGM” สามารถใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นสิทธิบัตรของตัวเอง ทำให้ได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำกว่ารายอื่น

การระบุว่า “เปิดกว้าง” เรื่องเทคโนโลยี จึงเป็นที่วิจารณ์อยู่พอสมควร

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความผิดพลาดของบางบริษัท จนเกิดการฟ้องในต่าบประเทศมาแล้ว

ต้องดูให้รอบคอบ ก่อนไฟเขียวเซ็นโครงการนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image