นิวส์รูมวิเคราะห์ : จัดระเบียบ ‘บิ๊กไบค์’

นิวส์รูมวิเคราะห์ : จัดระเบียบ ‘บิ๊กไบค์’

กรณีข่าวเมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักพากันพาดหัวข่าวออนไลน์ในทิศทางเดียวกันว่า รมว.คมนาคม ไฟเขียวขึ้นค่าแท็กซี่ โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เปิดห้องให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อให้ช่วยพิจารณา ประกอบด้วย ขอปรับขึ้นค่าโดยสาร, การขอยกเลิกใช้แท็กซี่ OK ที่มีการเก็บค่าใช้ระบบจากผู้ขับขี่รายเดือนคนละ 350 บาท, การขอขยายอายุจดทะเบียนจาก 9 เป็น 12 ปี และขอขึ้นค่าเซอร์ชาร์จและค่าขนสัมภาระของแท็กซี่ที่วิ่งในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ข่าวนี้ เสียงความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังโงหัวไม่ขึ้น

อีก 2 วันถัดมา รมว.คมนาคม จึงออกมายืนยันว่า การเสนอขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์ยังเป็นแค่รับข้อเสนอ ให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษาถึงต้นทุนของแท็กซี่ก่อน

ขณะที่ความคิดเห็นของผู้ที่ต้องใช้บริการแท็กซี่ ไม่ได้ปิดประตูตายว่าไม่ให้ขึ้นราคา แต่หลักการขึ้นราคาค่าโดยสารก็ไม่ต่างจากขสมก.ก่อนหน้านี้ มีการเสนอมาตรการการปรับปรุงด้านบริการด้วยหรือไม่ ทั้งสภาพของรถบางคัน พฤติกรรมของโชเฟอร์แท็กซี่บางคนที่ถูกถ่ายคลิปจับโพสต์ลงเป็นข่าว ทำให้โชเฟอร์จำนวนมากเสียหายไปด้วย

Advertisement

นอกจากนั้น ยังมีข่าวคู่ขนานออกมา เกี่ยวกับการปรับเนื้อหากฎหมายการขับขี่จักรยานยนต์ “บิ๊กไบค์”

เรื่องของ “บิ๊กไบค์” อยากให้รมว.คมนาคมเร่งจัดระเบียบอย่างยิ่ง แม้บิ๊กไบค์บนท้องถนนยังมีจำนวนไม่มากเท่ากับยานพาหนะอื่นๆ แต่อุบัติเหตุที่มาจากความเร็วและแรงของบิ๊กไบค์เป็นข่าวแต่ละครั้งน่าสยดสยองเหลือเกิน หลายคันทำตัวเป็นเจ้าถนน วิ่งแรงวิ่งแซงไม่สนใจใคร ขณะที่หลายคันก็อยู่ในกรอบกฎหมายอย่างดี

ทั้งนี้ มีข่าวออกมาแล้วว่า รมว.คมนาคมสั่งให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษารายละเอียด โดยนายกฯ ก็ห่วงใยในเรื่องนี้

Advertisement

“พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ให้ความเห็นในสื่อออนไลน์เมื่อเร็วๆนี้ว่า รถบิ๊กไบค์ไม่เหมาะสมกับถนนที่มีความเสี่ยงตลอด 2 ข้างทาง เนื่องจาก 1.บิ๊กไบค์มีขนาดใหญ่ ต้องการการทรงตัวสูง หากนำมาใช้ในเมืองที่มีอุโมงค์ มีสะพาน ทางโค้ง ถือว่าอันตรายมาก รถบิ๊กไบค์เหมาะสมกับถนนประเภทแยกเลน 2.การขี่รถที่ต้องใช้ความเร็วสูงไม่สามารถใช้ได้จริง ถนนไม่ได้ออกแบบไว้ ถนนมีทั้งราวกั้น ทางโค้ง ไม่เหมาะกับรถบิ๊กไบค์มาใช้ 3.ต้องมีทักษะการขับขี่สูง มีความชำนาญ ผ่านการฝึกฝน และ 4.รถขนาดใหญ่ มีขนาดปริมาณซีซีมาก หากนำมาขับบนถนนที่มีขอบทาง มีกันชนที่มีระยะห่างจากถนนแค่ 1 เมตร  มีโอกาสสูงที่อุปกรณ์รถ เช่น ที่พักเท้า ที่เหยียบ ขาตั้ง จะเกี่ยวและกระแทกไหล่ทางสูงมาก ทำให้รถพลิกคว่ำได้

ขณะที่ “นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย” อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็กล่าวถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงวันหยุดยาว และก็หยิบยกข้อมูลกรมการขนส่งทางบกมาบอกกันว่า แนวโน้มรถขนาด 250 ซีซีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2561 มีรถจดทะเบียนใหม่ 63,086 คัน  เพิ่มจากปี 2560 ถึง 23%  และรถจักรยานยนต์ที่มีขนาด 250 ซีซี ขึ้นไป หรือรถบิ๊กไบค์ มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเกือบ 2 เท่า ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 145 ราย และปี 2559 ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 285 ราย และในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 เพียงเดือนเดียว มีข่าวอุบัติเหตุรถบิ๊กไบค์เกิดขึ้น 9 ครั้ง เป็นการชนท้าย 2 ครั้ง เสียหลักไม่มีคู่กรณี 4 ครั้ง ถูกตัดหน้า 3 ครั้ง

ต้องรอดูกันต่อ  รมว.คมนาคมจะใช้กฎหมายบังคับอย่างไรเพื่อให้”บิ๊กไบค์”อยู่ร่วมถนนเดียวกันได้อย่างปลอดภัยต่อไป

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image