ตรรกะย้อนแย้ง ยื่นเอง-ร้องเอง จงใจยื้อแก้ไขร่าง รธน.จริงหรือ?

ตรรกะย้อนแย้ง ยื่นเอง-ร้องเอง จงใจยื้อแก้ไขร่าง รธน.จริงหรือ?

ชุมนุมใหญ่ ชุมนุมย่อยกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อแสดงพลังของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ภายใต้ชื่อ “ราษฎร” เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกแถลงการณ์ถอยคนละก้าว และส่งสัญญาณไปยังรัฐสภา ไฟเขียวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ…

กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับการยอมรับ เปิดทางให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ว่าด้วยบททั่วไป และหมวดพระมหากษัตริย์

Advertisement

ในขณะที่รัฐสภามีท่าทีที่ดีที่จะรอร่างของไอลอว์ เพื่อบรรจุวาระเข้าพิจารณาพร้อมกันในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ในการประชุมร่วมรัฐสภา

ซึ่งเหมือนจะเป็นการถอยคนละก้าวตามที่นายกฯ ได้บอกไว้ เพราะได้ปฏิบัติตาม 1 ในข้อเรียกร้องของ “ราษฎร”

แต่อยู่ๆ ส.ว.กลุ่มหนึ่งออกมาเดินเกมล่าชื่อ ยื่นญัตติตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

Advertisement

โดยเฉพาะในญัตติที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ที่ยังมีความเห็นต่าง มีข้อสงสัยทางกฎหมายกันอยู่ว่า จะต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนที่รัฐสภาจะโหวตรับหลักการหรือไม่ เพราะซีก ส.ว.ยังยืนยันว่า เจตนาของมาตรานี้คือให้แก้ไขรายมาตรา แต่เนื้อหาในญัตติที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนั้น ถือเป็นการแก้ไขให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การแก้ไข

ดังนั้น เมื่อยังมีข้อสงสัย การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคือทางที่ปลอดภัยที่สุด เป็นคำกล่าวของนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ 1 ในสมาชิก ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ ที่กล่าวไว้เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน

ทันทีที่ ส.ว.ขยับ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ กลับเด้งรับ และไปร่วมลงชื่อด้วยทันที ทำให้มี ส.ว. และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐร่วมลงชื่อ 72 คน ประกอบไปด้วย ส.ว. 47 คน และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 25 คน ทั้งนี้ 21 คน ใน 25 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ลงชื่อร่วมในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างของรัฐบาล

จนเป็นเหตุให้ถูกจับตาว่าการร่วมลงชื่อครั้งนี้เป็นการย้อนแย้ง

“ย้อนแย้ง” เพราะเป็นผู้เสนอให้แก้เอง แล้วกลับมาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จนเป็นเหตุให้หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นเกมยื้อหรือมีใบสั่งจากรัฐบาลหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้นยิ่งย้อนแย้งไปกันใหญ่ เมื่อนายกฯ ให้ไฟเขียวเอง แต่จะกลับมาเบรกเอง หรือเป็นแค่บางกลุ่มบางฝ่ายต้องการที่จะกอดอำนาจเอาไว้ให้ได้นานที่สุด

จน พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการ และมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปจัดการเรื่อง ส.ส.ร่วมลงชื่อ เพราะอาจกระทบกับรัฐบาลได้

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เจ้าของญัตติเพื่อให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 ฉบับที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายไพบูลย์บอกว่าเพิ่งเห็นปัญหา และต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยตัดสิน แต่ไม่ได้มีเจตนาเตะถ่วงแต่อย่างใด

และที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับมติเสียงข้างมากในรัฐสภาว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้เสียงข้างมากจะมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ในขั้นแรกศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้ความเห็นว่า ความผิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนขัดกับรัฐธรรมนูญยังไม่เกิดขึ้น จึงอาจยังไม่รับคำร้องที่จะตีความ

แม้จะดาหน้ากันออกมายืนยันว่าการยื่นตีความไม่มีใบสั่ง แต่เหตุไฉนพรรคพลังประชารัฐเตรียมการประสานวิปรัฐบาลชะลอการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะยกเหตุผลว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีมติยื่นศาลด้วยซ้ำ

หากเป็นเช่นนั้นจริง รับประกันได้ว่างานนี้ยิ่งเป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟ กวักมือเรียกม็อบไปเยี่ยมที่ “สัปปายะสภาสถาน”

เพราะลำพังการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ แต่หากยื้อเวลาออกไปอีกยิ่งแสดงถึงความไม่จริงใจในการรับเงื่อนไขผู้ชุมนุม

เพราะหากมีการยุบสภาในระหว่างทางนี้ เลือกตั้งกลับมาใหม่อีกครั้ง นายกฯ ก็ยังเป็นลุงตู่หน้าเดิม เพราะ 250 ส.ว.ยังอยู่ที่เดิมและยังมีอำนาจอยู่ในมือตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม…

และแม้ว่าล่าสุดกลุ่มผู้ชุมนุม ‘ราษฎร’ จะไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อกดดันให้รัฐสภารับร่างไอลอว์ แต่ก็ดูม่าจะพ่ายแพ้ให้กับยุทธภูมิที่มั่น ที่สุ่มเสี่ยงต่อการล้อมปราบได้ง่าย จึงทิ้งที่มั่นหน้ารัฐสภา ไปชุมนุมต่อที่สี่แยกราชประสงค์ โดยไม่สนใจการกดดนร่างไอลอว์ แต่จะยกระดับการชุมนุมที่ใหญ่ยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่า รัฐสภาจะรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1-2 อย่างกระท่อนกระแท่น โดยร่างไอลอว์เป็นอันตกไป

แต่หากถึงวันที่ร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่วาระ 2-3 แล้ว มีการยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาดูกันอีกครั้งว่า จะต้องใช้เวลาอีกเท่าใด จะเป็นการยื้ออีกนานแค่ไหน แล้วเมื่อใดเราถึงจะได้เห็นหน้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ไฉไลกว่าเดิม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image