งดออกเสียง=ละเลย

เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำเรียบร้อยกับการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาลงมติในวาระที่ 1 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีผู้เสนอเข้ามารวม 7 ญัตติ ผลออกมาไม่ได้พลิกล็อกหรือเกินความหมายเท่าไหร่นัก

กติกาที่ญัตติใดจะผ่านวาระที่ 1 คือต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ขณะนี้จำนวน 732 คน หรือ 366 เสียงขึ้นไปให้ควาสมเห็นชอบ และในจำนวนกึ่งหนึ่งที่ว่า ต้องคะแนนเสียงของส.ว.เกิน 1ใน 3 หรือ 82 เสียงขึ้นไป

ขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานการโหวตในแต่ละญัตติ

ฉบับที่ 1 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไข ม.256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากการเลือกตั้ง 200 คน กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 576 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 123 มีเสียง ส.ว.รับหลักการ 127 เสียง

Advertisement

2.ฉบับที่ 2 ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไข ม.256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีสัดส่วนมาจากการเลือกตั้ง 150 คน แต่งตั้ง 50 คน กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 647 ต่อ 17 งดออกเสียง 55 มีเสียงส.ว.รับหลักการ 176 เสียง

3.ฉบับที่ 3 ของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ตัดอำนาจ ส.ว.พิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ มีคะแนนเสียง 213 ต่อ 35 งดออกเสียง 472 มีเสียงส.ว.รับหลักการ 4 เสียง ไม่ผ่านความเห็นชอบ

4.ฉบับที่ 4 ของพรรคร่วมรัฐบาล ญัตติแก้ไข มาตรา 159 และมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีคะแนน 268 ต่อ 20 งดออกเสียง 432 มีเสียงส.ว.รับหลักการ 56 เสียง ไม่ผ่านความเห็นชอบ

5.ฉบับที่ 5 ของพรรคร่วมรัฐบาล ญัตติแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และกระทำโดย คสช. มีคะแนน209ต่อ 51 งดออกเสียง 460 ไม่มีเสียงส.ว.ให้ความเห็นชอบแม้แต่เสียงเดียว ไม่ผ่านความเห็นชอบ

6.ฉบับที่ 6 ของพรรคร่วมรัฐบาลญัตติแก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว กลับไปใช้ 2 ใบ แยกกันระหว่างระบบ ส.ส.บัญรายชื่อ และ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 มีคะแนน 209 ต่อ 19 งดออกเสียง 432 มีส.ว.รับหลักการ 59 เสียง ไม่ผ่านความเห็นชอบ

7.ฉบับที่ 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เสนอ

-แก้ไขมาตรา 256 จัดตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งทั้งฉบับ

-ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

-ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่คสช. เขียน และกดทับรัฐบาลทุกชุด

-ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่คนของคสช. เป็นคนเขียน

-ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

-ยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช. ที่ช่วยให้คสช. ลอยนวลพ้นผิด

-แก้ไขที่มา นายกฯ ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯ และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

-แก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง และลดอำนาจพิเศษของ ส.ว.

-แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญพร้อมสรรหาใหม่ยกชุด

-แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย ใช้แค่เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

มีคะแนนเสียง 212 ต่อ 139 งดออกเสียง 369 มีเสียง ส.ว.รับหลักการ 3 เสียง ไม่ผ่านความเห็นชอบ

การพิจารณาในวาระที่ 1 “รับหลักการ” มีเนื้อหาเป็นที่เข้าใจกันว่า จะพิจารณาเฉพาะหลักการของร่างกฎหมายว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง มีความเหมาะสม จำเป็นหรือไม่ โดยไม่พิจารณารายละเอียดอื่นๆ แล้วลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ถ้าไม่รับหลักการก็ตกไป ถ้ารับหลักการก็จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณารายละเอียด

แต่อภิปรายของสมาชิกรัฐสภาระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ก่อนการโหวตลงมติ มีการลงละเอียดจินตนาการละเลงญัตติที่ตนเห็นแย้ง ด้วยหยิบยกมาตรา 255 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้” ขยายความว่าจะเกิดเหตุไม่พึงประสงค์

ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรายมาตราหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นแม้ตัวอักษรเดียว ไม่ต้องพูกถึงขั้นตอนแปรญัตติ ลงมติในวาระ 2 และ 3

หรือข้อสังเกตถึงผลลงคะแนนเสียงในแต่ละญัตติ ที่ปรากฎโหวต “งดออกเสียง” จำนวนมาก ตัวอย่าง
โหวตฉบับที่ 3 งดออกเสียง 472 หรือร้อยละ 64% ของสมาชิกรัฐสภา , ฉบับที่ 4 งดออกเสียง 432 หรือร้อยละ 59% , ฉบับที่ 5 งดออกเสียง 460 หรือร้อยละ 62% , ฉบับที่ 6 งดออกเสียง 432 หรือร้อยละ 59% และฉบับที่ 7 งดออกเสียง 369 หรือร้อยละ 50%

นึกไม่ออกว่า มีการลงมติร่างกฎหมายครั้งไหนมีเสียง “งดออกเสียง”มากมายขนาดนี้

แม้เข้าใจได้ ต้องเคารพสิทธิบุคคลในการออกเสียง

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ส.ส.และ ส.ว.ถือเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์สูง ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ตัวแทนในทางนิติบัญญัติ การตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ

กลับเลือกเล่น “แทงกั้ก” เป็นการแสดงบทบาทสมความคาดหวังหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image