รัฐต้องกล้าตัดสินใจ สร้างเชื่อมั่นดึงเอกชนร่วมลงทุนปลุกชีพเศรษฐกิจ

รัฐต้องกล้าตัดสินใจ สร้างเชื่อมั่นดึงเอกชนร่วมลงทุนปลุกชีพเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของประเทศยังทรุดหนักจากพิษโควิด ไม่รู้จะโงหัวขึ้นได้เมื่อไร เครื่องจักรที่จะหมุนระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักไปหมด ยกเว้นการส่งออกที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ส่งอานิสงส์ให้กับภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก
เครื่องจักรอีกตัวที่สำคัญ ที่จะช่วยหมุนระบบเศรษฐกิจนั่นคือ การลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่ตอนนี้เครื่องจักรการลงทุนยังฝืดมาก

การลงทุนภาครัฐ ก็มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะงบประมาณปี 2565 ที่มีวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยมีงบลงทุนเพียง 624,399 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนแค่ 20.14% ของวงเงินงบประมาณ และต่ำกว่าวงเงินขาดดุลที่ตั้งไว้ถึง 7 แสนล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 เศรษฐกิจยังฟุบ ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงจากปีก่อนประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นเหตุให้ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลถึง 7 แสนล้านบาท

แม้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง จะกำหนดไว้ว่าให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลของงบประมาณประจำปี แต่ในวรรคสองก็มีข้อยกเว้น โดยรัฐบาลต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการแก้ไขต่อรัฐสภา

ทั้งนี้ ครม. เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบหลักการมาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีน้อยกว่าวงเงินขาดดุล โดยเพิ่มแหล่งเงินลงทุนในส่วนอื่นที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนในปี 2565 ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

Advertisement

ทั้งนี้ มาจาก 1.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือพีพีพี (Public Private Partnership : PPP) ในปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2563-2570 จำนวน 10 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 2.6 แสนล้านบาท โดยจะมีวงเงินลงทุนในปี 2565 รวม 5.23 หมื่นล้านบาท

2.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (Thailand Future Fund) ซึ่งปีงบประมาณ 2565 คาดว่ามีแผนการใช้จ่ายจากไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ รวม 2 โครงการ วงเงินรวม 9.98 หมื่นล้านบาท

3.การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 109 รายการ วงเงินรวมประมาณ 9.1 พันล้านบาท

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อรวมกันแล้ววงเงินลงทุนรวมจะมากกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 7 แสนล้านบาท

ส่วน การลงทุนของเอกชน ปัจจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลต้องกระตุ้นและจูงใจให้เอกชนมาลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ต้องเร่งเปิดประมูล

เมื่อเร็วๆ นี้ เริ่มทยอยเปิดประมูลแล้ว อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย- เชียงราย-เชียงของ วงเงินกว่า 73,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 5.46 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโครงการที่ยังค้างอยู่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท

หากเร่งประมูลและเดินหน้าก่อสร้างได้เร็วก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก

นอกจากนี้รัฐบาลต้องจูงใจเอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐบาล หรือพีพีพี ในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะมีการลงทุนรวม 5.23 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การจะดึงให้เอกชนมาร่วมลงทุนด้วยนั้น รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนกล้าเข้ามาลงทุน กล้าตัดสินใจ ไม่เงื้อง่าราคาแพง

อย่างกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับ “บีทีเอส” ที่ยังค้างคามานานมากแล้ว แต่รัฐบาลยังยึกยักไม่ตัดสินใจสักที ซึ่งขณะนี้ กทม.เป็นหนี้ “บีทีเอส” กว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว

ดังนั้นควรรีบตัดสินใจ จะให้ กทม.ชดใช้หนี้ที่ค้างไว้ หรือจะต่อสัมปทานให้ ก็ว่าไป

แต่ยังเงียบ ไม่เคาะสักทีจะไปซ้ายหรือขวา ซึ่งอาจส่งผลให้เอกชนไม่มั่นใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image