ตู้น้ำหยอดเหรียญ ไม่ได้มีแค่ใน กทม.

จะว่าไปแล้ว กรณีที่ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” และเครือข่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เนื่องจากเมื่อ 2 ปีก่อน มีการสำรวจพบว่ากว่าร้อยละ 90 เป็นตู้น้ำเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากเจ้าของตู้ติดตั้งไว้ในจุดที่ไม่เหมาะสม

อยู่ใกล้แหล่งรังโรค ไม่มีการดูแลด้านตามหลักสุขอนามัย และจนถึงวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาแก้ไข ดูเหมือนจะเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร

แต่แท้จริงแล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะตู้น้ำหยอดเหรียญเหล่านั้น เข้าข่ายเป็น “กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง

Advertisement

หากน้ำปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อโคลิฟอร์ม เชื้ออีโคไล ผู้บริโภคดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีเชื้อเหล่านี้จะเสี่ยงเป็นโรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ และไวรัสตับอักเสบเอ

ผลจากการติดตามทวงถามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคครั้งนี้ได้อานิสงส์ยิ่ง เพราะกระตุ้นให้ผู้บริหาร กทม.ตื่นตัวกับปัญหาดังกล่าว

โดยตลอด 1 สัปดาห์หลังจากรับเรื่อง ได้มีการสั่งการให้สำนักอนามัย และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เร่งสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่รับผิดชอบและตรวจสอบคุณภาพน้ำจากทุกตู้

Advertisement

โดยให้รายงานผลภายใน 7 วัน พร้อมทั้งให้บังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด ด้วยการติดตามเร่งรัดเจ้าของตู้ที่ไม่มีใบอนุญาต แต่น้ำยังมีคุณภาพดีได้มาตรฐานไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการตามหลักของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
เช่น ติดป้ายใบอนุญาต ติดป้ายระบุวันเวลาเปลี่ยนไส้กรอง ติดป้ายแจ้งเตือนต่างๆ เป็นต้น

ส่วนตู้น้ำใดยังไม่ได้คุณภาพต้องแจ้งให้เจ้าของแก้ไขปรับปรุงภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการจะสั่งหยุดประกอบการทันที

ไม่เพียงเท่านั้น กทม.ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มจากปีละ 2,000 บาทต่อตู้ เป็นปีละ 500 บาทต่อตู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบกิจการเข้าสู่กระบวนการยื่นเอกสารขออนุญาตที่ถูกต้องด้วย

ก่อนหน้านี้ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาให้ข้อมูลว่า กทม.ได้เคยทำการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในพื้นที่ 50 เขต มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 3,964 ตู้

ในจำนวนนี้เป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้เท่านั้น

ที่เหลืออีก 3,804 ตู้ ไม่มีใบอนุญาต
แต่จากการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจหาสารปนเปื้อน พบว่ามากกว่าร้อยละ 80 เป็นน้ำคุณภาพดี ถูกสุขลักษณะ

ปัจจุบันธุรกิจน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญกำลังได้รับความนิยม และมีผู้ประกอบการหันมาดำเนินธุรกิจดังกล่าวจำนวนมาก

แม้ตัวเลขนี้จะเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นของ กทม. แต่เมื่อรับรู้ข้อมูลแล้วก็อดใจหายไม่ได้ว่าระดับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อนนับพันๆ ตู้
แล้วนับประสาอะไรกับตู้น้ำหยอดเหรียญในย่านชุมชนอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ประมาณการว่าตัวเลขคร่าวๆ น่าจะมีมากกว่า 60,000 ตู้

หลับตานึกกันดู จะมีสักกี่ตู้ที่ขออนุญาตถูกต้องและได้มาตรฐานถูกหลักสุขอนามัย

อันที่จริง ตู้น้ำหยอดเหรียญมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้ง สคบ. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น

แต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพในการกำกับดูแลที่ชัดเจน

ไหนๆ ก็รณรงค์เรียกร้องในกรุงเทพฯ กันไปแล้ว จุดประกายขึ้นแล้ว

ก็ทำไปพร้อมกันเลยทั่วประเทศไม่ดีกว่าหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image