คน-พรรค-นโยบาย ชาวมาเลย์จะเลือกอะไร?

REUTERS/Lai Seng Sin(R)/File Photos

วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปที่น่าจับตามองอีกครั้งในมาเลเซีย ที่หลายคนระบุว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองครั้งสำคัญของที่นั่น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเครื่องกำหนดทิศทางครั้งใหญ่ของประเทศว่าจะยังคงย่ำอยู่กับที่ ขยับไปข้างหน้าเพียงไม่กี่มากน้อย หรือจะเปลี่ยนแปลงและก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในทางการเมือง

ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า คนส่วนใหญ่ในมาเลเซียตัดสินใจเลือกให้ความสำคัญกับอะไรสูงสุด ระหว่างตัวบุคคล ตัวพรรคการเมือง หรือ แนวนโยบายที่แต่ละพรรคเลือกใช้

หากชาวมาเลย์ส่วนใหญ่ยังคงยึดถือตัวบุคคลเป็นหลัก ก็อาจหมายความว่า บุคคลอย่าง “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 92 ปี ผู้ที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “บิดาแห่งความทันสมัย” ของประเทศอาจได้กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่งในฐานะ ตัวแทนของพันธมิตรฝ่ายค้านที่เรียกตัวเองว่า “ปากาตัน ฮารัปปัน” หรือ “กลุ่มกติกาสัญญาเพื่อความหวังใหม่”

มหาธีร์ ผู้ที่ปกครองมาเลเซียมาต่อเนื่องถึง 22 ปี บ่มเพาะนักการเมืองในยุคปัจจุบันขึ้นมามากมาย รวมทั้ง นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน ซึ่ง มหาธีร์ ประกาศเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ความผิดพลาดใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตผมก็คือการเลือก นาจิบ” ขึ้นมาเป็นทายาททางการเมือง

Advertisement

นาจิบ ราซัก เป็นตัวแทนของ บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) หรือ กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ ที่ประกอบด้วย 3 พรรคการเมือง หนึ่งคือ อัมโน (พรรคองค์การสหชาติมาเลย์), สมาคมชาวมาเลย์เชื้อสายจีนและสภาชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปมาทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2500 มีทั้งอิทธิพลทางการเมืองและทางการเงินสูง ทั้งยังมีอำนาจเหนือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะเป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน มีเพียงการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังเท่านั้นที่ บีเอ็น ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากฝ่ายค้าน คือในการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 และในปี 2556 ที่ ถูกพรรคฝ่ายค้านเอาชนะในแง่ของคะแนนดิบจากการโหวตทั่วประเทศได้ แม้ว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของ จำนวนที่นั่งส.ส. ในสภาจะยังเป็นของบีเอ็น ซึ่งเป็นเหตุให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด

จุดอ่อนสำคัญของนาจิบ ก็คือ ชนักติดหลังกรณี “1เอ็มดีบี” กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น แต่ถูกเปิดโปงโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาว่า เงินส่วนหนึ่งที่มหาศาลถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ถูก “ฉก” ออกไปจากกองทุนดังกล่าว ยักย้ายเข้าสู่บัญชีส่วนตัว โดยที่ 731 ล้านดอลลาร์ในจำนวนนั้น ถูกโอนเข้าไปยังบัญชีส่วนตัวของ “เจ้าหน้าที่มาเลเซียหมายเลข1” ซึ่งถึงแม้จะไม่ระบุชื่อแต่น้อยคนที่ไม่รู้ว่าหมายถึงตัว นายกรัฐมนตรีนาจิบ

แม้ นาจิบ ราซัก จะปฏิเสธเรื่องนี้ แต่คดีนี้ยังคงคาราคาซังอยู่ในกระบวนการชั้นศาลของอีกอย่างน้อย 10 ประเทศ และกลายเป็นประเด็นใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ในเวลาเดียวกัน บีเอ็นกับนาจิบ ยังถูกกล่าวหาว่า สร้างความแตกแยก แบ่งขั้วให้เกิดขึ้นกับสังคมมาเลเซีย ตามแนว “เชื้อชาติ” ด้วยการดำเนินนโยบายหลายอย่างที่เอาอกเอาใจคนเชื้อสายมาเลย์มากกว่าเชื้อสายจีนหรืออินเดีย ประเด็นที่ผู้สันทัดกรณีในมาเลเซียเองระบุว่า เป็นทั้งจุดแข็งและความเสี่ยงของพรรครัฐบาลผสมอยู่ในตัวเอง

กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ ยังคงคาดหวังว่า ชาวมาเลเซียจะตัดสินใจเลือกพรรค มองข้ามข้อบกพร่องส่วนตัวของนาจิบ โดยคาดหวังว่าทางพรรคจะสามารถหาคนใหม่มาทำหน้าที่แทนได้ตามกระบวนการพรรคหากทุกอย่างชัดเจนขึ้น

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมอร์เดกา เซนเตอร์ สำนักโพลอิสระของมาเลเซีย ทำสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 1,203 คนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พบว่า เสียงส่วนใหญ่ของคนมาเลย์ ยังเลือกที่จะยึดถือนโยบายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาตัวเลือกเพื่อหย่อนบัตรของตนเอง โดย 72 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในการสำรวจพบว่า อีก 40 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าค่าครองชีพในเวลานี้สูงจนต้องชะลอหรือไม่ก็ไม่สามารถจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคได้ ในขณะที่อีก 15 เปอร์เซ็นต์ยืนยันว่า จำเป็นต้องลด “มื้ออาหาร” ของตนลงเพื่อให้อยู่ได้

นั่นอาจจะเข้าทาง พากาตัน ฮารัปปัน ที่ประกาศระหว่างการหาเสียงยกเลิกภาษีบริการและภาษี ณ ที่ขาย, เพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อลดราคาน้ำมัน, ขึ้นค่าแรงและจัดทำระบบบำนาญสำหรับ “แม่บ้าน” เป็นต้น

แต่ยังไม่มีอะไรแน่นอนว่าเรื่องนี้จะช่วยให้ฝ่ายค้านสามารถเอาชนะกลไกทางการเมืองที่หนักแน่นและเป็นปึกแผ่นมานานของพรรครัฐบาลผสมบีเอ็นได้
สำหรับคนไทยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซียคงไม่ส่งผลกระทบโดยตรงมากมายกระไรนัก เพียงได้แต่จับตามองด้วยความสนใจว่าไม่ว่าชาวมาเลย์จะเลือกอย่างไร และเลือกใคร อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็สามารถเลือกอนาคตของตัวเองได้

ในขณะที่คนไทยยังไม่มีโอกาสทำได้เหมือนเขา…เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image