ส่อง “สตาร์ทอัพไทยแลนด์” จะ “ร่วง” หรือ จะ “รุ่ง”

งานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2018 “STARTUP THAILAND 2018” ในธีม “โอกาสที่ไม่สิ้นสุดของทุกคน” หรือ ENDLESS OPPORTUNITIES ที่จัดขึ้นในวันที่ 17-20 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นความสำเร็จของประเทศไทยอีกขั้นในการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

นับตั้งแต่รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ว่า ต้องการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ ให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior) และจะปลูกต้นไม้ใหม่ภายใต้สตาร์ทอัพ ตั้งเป้าให้เจริญเติบโตออกดอกผลได้ภายใน 2 ปี

ล่าสุด “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ออกมาประกาศความสำเร็จว่า วันนี้ประเทศไทยได้นักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ พร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเกิดสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ (Excellence) และสตาร์ทอัพดาวรุ่ง (New Star) รวมกว่า 30 ราย เกิดยูนิคอร์น (UNICORN) รายแรกของประเทศ เกิดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและดำเนินธุรกิจจริง 1,500 ราย และยังมีธุรกิจสตาร์ทอัพอีก 8,500 ราย ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนดำเนินธุรกิจแต่พร้อมลุย รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่มากกว่า 15,000 อัตรา ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีและทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการสูง ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ รวมทั้งคาดว่าจะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพจากนักลงทุนภายในและต่างประเทศทั้งเอกชนและภาครัฐรวม 44,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ ยังระบุว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีการบ่มเพาะสตาร์ทอัพรายใหม่มากกว่า 40,000 คน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย 34 แห่ง และผู้ประกอบการรายใหญ่ สร้างระบบนิเวศให้แก่นิสิต นักศึกษา และขยายฐานการสร้างสตาร์ทอัพไปยังวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะทั้งภาครัฐและเอกชน 886 แห่ง ประมาณ 100,000 คนทั่วประเทศ

Advertisement

กระแสการตื่นตัวและตัวเลขการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ยังทำให้ กรุงเทพมหานคร กลายเป็นเป้าหมายของนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน ที่สนใจเข้าแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ จนได้รับยกย่องให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพอันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของโลก กระทั่งรัฐบาล โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแผนผลักดันให้เกิดเป็นย่านนวัตกรรมเอื้อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ อันได้แก่ ย่านโยธี ย่านปทุมวัน ย่านคลองสาน ย่านรัตนโกสินทร์ ย่านกล้วยน้ำไท ย่านลาดกระบัง ย่านปุณณวิถี และย่านบางซื่อ ก่อนที่จะขยายไปสู่ย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ บางแสน ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา บ้านฉาง และกระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เช่น ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น เชียงใหม่ ฯลฯ

วันนี้ สตาร์ทอัพไทยแลนด์ มีพันธมิตรและเครือข่ายในต่างประเทศมากกว่า 30 หน่วยงาน ใน 15 ประเทศ ทั้ง ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ อิสราเอล อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส เบลเยียม ออสเตรีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอุปสรรค และข้อติดขัดด้านกฎหมายที่อาจจะเป็นอุปสรรคให้สตาร์ทอัพไม่สามารถเดินต่อไปได้อย่างราบรื่น ทั้ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … และ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ อีกทั้งยังมีเรื่องของการทำสมาร์ท วีซ่า (SMART Visa) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการทั้งสิ้น

เหล่านี้ เป็นเรื่องของการปลดล็อกเพื่อเอื้อให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งสิ้น แต่อย่าลืมว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพก็ไม่ได้มีแค่เพียงในประเทศไทย ยังมีคู่แข่งในอีกหลายประเทศ และเกิดขึ้นก่อนบ้านเราเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึงมากๆ คือ ต้องพิจารณาด้วยว่าในต่างประเทศเขาก้าวไปกันถึงไหนแล้ว

Advertisement

อย่ามัวแต่ส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพียงแค่สนับสนุนด้านการเงินและจัดสัมมนากระตุ้นเท่านั้น เพราะอาจจะไม่ได้ทำให้ธุรกิจของสตาร์ทอัพเติบโตไปตามเป้าที่วางไว้

เห็นที…งานนี้คงต้องวัดใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอีกยก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image