ถึงเวลาปฏิรูป อย. บูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ

ณ เวลานี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำลังถูกจับตามอง..มองถึงจุดเปลี่ยนที่คนในแวดวงรู้ดีว่า ถึงเวลาต้องปฏิรูปจริงๆเสียที

ไม่เพียงแต่กรณีการสวมทะเบียน อย.หรือการใส่สารต้องห้ามของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทั้งหลาย ทั้ง “เมจิก สกิน” หรือ “ลีน” หรือแม้แต่การรีวิวของดาราคนดัง ที่อ้างว่าเห็นมี อย. ก็เชื่อและพร้อมรีวิว แต่ อย. ยังเจอศึกหนักอีกมาก นั่นเพราะปัญหาการรับขึ้นทะเบียน อย. การอนุมัติช่างแสนง่ายดาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ถึงแม้ล่าสุดผู้บริหาร อย.จะเรียงแถวออกมาแถลงข่าวเพิ่มมาตรการการขึ้นทะเบียนให้เข้มงวดมากขึ้นก็ตาม

ปัญหาคือ อย.ควรจะทำอย่างไรเพื่อดึงความเชื่อมั่นตรงนี้ขึ้นมา ถึงแม้ขณะนี้จะมีมาตรการเข้มต่างๆ ทั้งการรับขึ้นทะเบียนออนไลน์ที่ต้องดูถึงโรงงานผลิต หรือการร่วมกับเครือข่ายในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการร่วมกับ กสทช. ในการสอดส่องดูแลการโฆษณาเกินจริง แต่จุดหนึ่งคือ จำเป็นหรือไม่ที่ อย.จะต้องเพิ่มบุคลากรในขนาดที่พอเหมาะพอเจาะกับการขอขึ้นทะเบียนของบรรดาผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือยา เพราะเฉพาะแค่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็ปาไปกว่า 7 แสนรายการ ซึ่งการเพิ่มบุคลากรก็คงมี แต่คงไม่มากมาย

สิ่งสำคัญคือ ปรับระบบเชื่อมโยงทุกภาคส่วน เรื่องนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้มาก่อนว่า การเพิ่มบุคลากรจำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ต้องเพิ่มมากมาย เพราะไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งหมด สิ่งสำคัญคือ ปรับระบบการทำงานที่เน้นการบูรณาการอย่างแท้จริง
สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางการปฏิรูปหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีเอกภาพ มีความเป็นหนึ่งเดียว ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านต่างๆ ทั้งลดการเกิดโรค และให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ แน่นอนว่า อย.เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จะทำอย่างไรให้ประชาชนลดความเสี่ยงจากการบริโภคสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และจะมีระบบในการดูแลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างไร

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า จากการประชุมหารือของคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ได้ร่างการทำงานพร้อมขับเคลื่อนไว้จำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งคือ การปรับระบบการทำงานของ อย. เนื่องจากที่ผ่านมา อย.ไม่มีความพร้อมในการประเมินประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจเพราะระบบ และบุคลากร ไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวน แต่หมายถึงการเลือกบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ในการประเมินก่อนการรับรองผลิตภัณฑ์ เช่น เมื่อมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาขอขึ้นทะเบียน มีส่วนประกอบต่างๆ อย.ต้องมีฐานข้อมูลทั้งหมดว่า ส่วนประกอบไหนมีผลการศึกษาอะไรบ้าง และมีผู้เชี่ยวชาญประเมินอีกที เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางตัวมีศักยภาพมาก แต่บางตัวไม่ถึงขั้น ก็ไม่ควรให้ขึ้นทะเบียน เพราะหลายตัวอาจเอาไปเคลมอวดอ้างสรรพคุณเว่อร์จนกลายเป็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา

“นอกจากนี้ อย.ต้องมีการทบทวนการรับรองอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า อย.อาจบอกไม่มีบุคลากรเพียงพอ แต่มีวิธีในการทำงานเชื่อมโยงกันได้หมด เพื่อให้เกิดเอกภาพขึ้นอย่างแท้จริง ทั้งการทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ฯลฯ หรือหน่วยงานอื่นนอกกระทรวง ต้องทำงานกันอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่บางเรื่องบางกรณี ตรงนี้จะมีการเชื่อมโยงอยู่ ซึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปมีการวางกรอบการทำงานไว้แล้ว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว พร้อมระบุอีกว่า น่าเสียดาย ขณะนี้กลับมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปอีก ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า แล้วจะทำงานให้ไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ เพราะคณะกรรมการเป็นคนละชุด และความเป็นจริง คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขก็มีชุดที่จะทำงานพร้อมขับเคลื่อนอยู่แล้ว จึงอยากขอความชัดเจนตรงนี้ด้วยเช่นกัน

เพราะหากระบบสาธารณสุขไม่ปฏิรูป คงแย่..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image