มองข้ามช็อตดับ ‘ไฟใต้’ จาก ‘มหาธีร์’ ถึง ‘อันวาร์’

“อันวาร์ อิบราฮิม” ในวัย 70 ปี ยอมลืมความบาดหมางในอดีต หันมาจับมือกับ มหาธีร์ โมฮัมหมัด โค่นล้ม “นาจิบ ราซัก” ในการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ก่อน ต่อมาภายหลังเข้ารับตำแหน่งของมหาธีร์ยืนยันว่า จะขอนั่งตำแหน่งนายกฯ คนที่ 7 หรือสมัยที่ 6 ไม่เกิน 2 ปี หรืออยู่ในช่วงอายุประมาณ 94 ปี ก่อนส่งต่อให้อันวาร์มาดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 8 ต่อไป

อันวาร์ ถือเป็นผู้อาวุโสทางการเมืองอีกคนเพราะอายุถึง 70 ปีแล้อันวา

คงจะมองข้ามช็อตไปพอสมควร หรือตั้งคำถามเร็วเกินไปกับกรณีนโยบายของมาเลเซียต่อการแสวงหาสันติสุขของรัฐบาลไทยกับกลุ่มเห็นต่าง หากเกิดขึ้นในยุคของอันวาร์ อิบราฮิม จะเป็นอย่างไรต่อไป

อันวาร์อยู่บนถนนการเมืองมาเลเซียที่มีคนชอบและสนับสนุนมากที่สุดคนหนึ่ง เพียงไม่ค่อยเห็น “ท่าที” หรือเคยมีบทบาทในมุม “ไฟใต้” มากนัก แต่ยังเป็นที่เบาใจหลังได้รับการสนับสนุนของมหาธีร์ที่จะดันเป็นนายกฯในลำดับถัดไป ย่อมต้องมีแนวคิดและนโยบายที่น่าจะเดินในแนวเดียวกัน

Advertisement

ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียเจอผลกระทบจาก “ไฟใต้” ชนิดหนีไม่พ้น แต่จะไม่ยอมให้การก่อเหตุลุกลามล้ำเส้นอาณาเขตเด็ดขาด มองว่าเป็นปัญหาของรัฐบาลไทย แต่มาเลเซียพร้อมมาช่วยรับฟังปัญหา และแสดงท่าทีต่อบท “พี่เลี้ยง” ในเรื่องนี้ ในอีกอารมณ์หนึ่งก็ต้องเล่นบท “ตีสองหน้า” เพราะยังยอมให้กลุ่มก่อเหตุ “ไฟใต้” เข้าไปหลบพักพิงและใช้ชีวิตประจำวันในระดับหนึ่งได้ จนเป็นที่มาของกลุ่มตัวแทนต่างๆ ทั้งมาราปาตานี หรือตั้งแต่บีอาร์เอ็นไปจนถึงพูโลในอดีตที่ต้อง “เกรงใจ” มาเลเซียพอสมควร

ในทำนองเดียวกัน การที่มาเลเซียเปลี่ยนผู้นำใหม่ แม้จะเป็นคนเก่ามาวนเวียน หรือการได้คนใหม่ที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ทางกลุ่มก่อการที่หลบซ่อนตัวก็ต้องตรวจสอบ “ท่าที”ของผู้นำมาเลเซียต่อนโยบายการแก้ปัญหา “ไฟใต้” อย่างละเอียดเช่นกัน

หากวันหนึ่ง อันวาร์ อิบราฮิม ขึ้นมาเป็นนายกฯ เจ้าตัวน่าจะเลือกวิธีการที่สร้างมิตรกับไทยให้มากที่สุด จะไม่ออกโรงสนับสนุนการกระทำใดๆของกลุ่มก่อเหตุเหล่านี้ สอดสอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่างจะยังเดินหน้าตามปกติ รัฐบาลไทยสามารถร่วมมือได้กับทุกรัฐบาล โดยมาเลเซียเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ความไม่สงบมีผลกระทบทั้งสองฝ่าย

Advertisement

“ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เราก็ต้องทำงานความร่วมมือต่อไป นั่นก็เป็นเรื่องที่ให้เกิดการรับรู้กัน โดยเฉพาะต่างประเทศด้วย ว่ามีการแก้ไขอย่างไร มาเลเซียมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ได้มีส่วนในการเข้าร่วมการพูดคุย การพูดคุยก็จำเป็นต้องทำที่ต่างประเทศ เพราะว่าในประเทศเราทำไม่ได้อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ก็คงต้องหารือกันต่อไป ผมคิดว่าคงได้ทำต่ออยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นความมั่นคงในภูมิภาค เพราะถ้ามีปัญหาในบ้านเรา เช่นเดียวกัน ก็อาจมีปัญหาในบ้านเขาด้วย”

นับเป็นท่าทีของการมองตาก็รู้ใจได้เช่นกันว่า มาเลเซียในอนาคตจะไม่สร้างความแตกต่างจากจุดยืนนี้ ที่สำคัญมาเลเซียก็มองเห็นพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นของไทยในการพูดคุยสันติสุขตามลำดับเช่นกัน
ถือว่าสมหวัง “วิน-วิน” กันทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image