เส้นทางเดิน 48+9…แล้วยังไงต่อ

22 พฤษภาคมนี้ ครบ 48 เดือนพอดิบพอดีกับการยึดอำนาจการปกครองของ คสช.

ผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในรอบ 45 เดือน หลัง “ครม.ประยุทธ์1” ที่เริ่มคลอดเมื่อ 31 สิงหาคม 2557 โพลแต่ละสำนักสำรวจออกมาให้เห็นกันแล้วว่าสอบผ่าน-สอบตก กันอย่างไรกันบ้าง

แต่ที่น่าสนใจคือช่วงจากนี้ไปอีก 9 เดือน ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่หลายคนเชื่อว่าคงไม่ขยับออกไปอีก สถานการณ์ของประเทศจะเป็นอย่างไร

ด้านการเมือง…คงจะเข้มข้นมากขึ้น นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนจะเอ็กเซอร์ไซส์ เขย่ารัฐบาลบ้างเป็นระยะๆ

Advertisement

ผลการชุมนุมมี 3 ทาง หนึ่ง…ไม่ป่วนมาก รัฐบาลก็อยู่ตามโรดแมป

แต่ถ้าวุ่นวายหนัก หนึ่ง…รัฐบาลไปเร็ว หรืออีกหนึ่ง…รัฐบาลอยู่ยาวออกไป

ส่วนเกมในระบบ บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายเร่งแต่งเนื้อแต่งตัว แข่งกับเวลาที่กระชั้นชิดในการลงสนามเลือกตั้ง

อย่างที่ว่านโยบายหลักของพรรคต่างๆ ตอนนี้คือ “เอา-ไม่เอา” นายกฯคนนอกที่ชื่อ “บิ๊กตู่”

ดังนั้น นับจากนี้ไป คนที่ชื่อ “บิ๊กตู่” ที่เดิมเป็นเป้าใหญ่อยู่แล้ว ก็จะยิ่งเป็น”หมู่บ้านกระสุนตก” ถูกถล่มสารพัดเรื่องมากขึ้น จากกลุ่มที่ “ไม่เอาบิ๊กตู่” เพื่อดิสเครดิต ลดคะแนนนิยม และหมดความน่าเชื่อถือที่จะกลับมาเป็นผู้นำอีกรอบ

ขณะที่กลุ่มที่ “เอาบิ๊กตู่” ก็ต้องตั้งการ์ดสูง นอกจากตั้งรับตอบโต้กลับแล้ว อาจต้องใช้เกมรุกเอาคืนโดยเฉพาะบางคนที่มีชนักติดหลัง

เกมการเมืองนับจากนี้จะยิ่งแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านเศรษฐกิจ…เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญกับการเลือกตั้ง แม้ตัวเลขดัชนีชี้วัดหลายตัวจะดีขึ้นต่อเนื่อง แต่เสียงบ่นยังดังไปทั่วว่าย่ำแย่

กระทรวงพาณิชย์ ต้องออกมาแจกแจงว่าที่ว่าค่าครองชีพแพงขึ้นจริง-เท็จอย่างไร เพราะดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็อยู่ที่ 1.07% และ 4 เดือนแรกก็แค่ 0.75 %

ข้าวของที่ว่าแพงขึ้นนั้นจริงไหม เพราะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพก็ไม่ได้ปรับขึ้น แถมบางอย่างแข่งกันลดราคาด้วยซ้ำ

ส่วนราคาผักผลไม้ ก็เป็นไปตามฤดูกาลมีขึ้น-มีลง ช่วงราคาตกผู้บริโภคก็เงียบ ส่วนเกษตรกรแย่ หากราคาสูงผู้บริโภคโวย เกษตรกรก็เงียบ

หากราคาข้าวของไม่ได้ปรับขึ้น แต่เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นงอก โดยเฉพาะค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ต ก็ออกมาแจกแจงให้ประชาชนเข้าใจ

แต่หลังจากนี้ต้องจับตาดูราคาน้ำมันโลก ที่ทยานปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ค่าขนส่ง และราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นได้

ที่น่าสนใจคือการลงทุนโครงการยักษ์หลังจากนี้ โดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลพยายามจะเร่งสปีดเต็มที่ เพื่อโชว์ผลงาน และสกัดไม่ให้หลุดไปถึงมือรัฐบาลชุดใหม่ เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาดูแลหรือไม่

ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดประมูล 5 โครงการยักษ์มูลค่ากว่า 6.6 แสนล้านบาทภายในปีนี้ คือ 1.ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 2 แสนล้านบาท 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2 แสนล้านบาท 3.โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงิน 1 แสนล้านบาท 4.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ นับจากนี้ไปอีก 9 เดือน จะมีผลสำคัญต่อการเลือกตั้ง

แต่หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อ ต้องรอชมโฉมหน้ารัฐบาลใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image