ม็อบ “คนอยากเลือกตั้ง” จบอย่างไร? สะเทือน “รัฐบาล-คสช.”

แฟ้มภาพ

เป็นความกังวลของคนติดตามสถานการณ์การเมือง ว่า เหตุการณ์ 21-22 พฤษภาคม ที่ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” นัดชุมนุมสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ภายใต้กิจกรรม “22 พฤษภา เราจะหยุดระบอบ คสช.” แล้วเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น ซึ่งมีการประชุมครม.นั้น จะจบอย่างไร??

“ความกังวล” ประการแรก จากการข่าวสำนักงานแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณ์กุล รองผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ออกมาเปิดเผยว่า มี “แดงฮาร์ดคอร์” เตรียมเคลื่อนย้ายอาวุธหนักสร้างสถานการณ์ สอดรับกับแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ที่แจ้งตรงกันว่า กลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองเก่าๆมีการเตรียมอาวุธเข้ามาสมทบ ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมที่สนามฟุตบอลมธ.รับรู้หรือไม่

ประการถัดมา มีการผสมโรงของคนพรรคการเมืองบางพรรค ที่เปิดหน้าปะ ฉะ ดะ กับ คสช. ยิ่งทำให้ดีกรีของการชุมนุมร้อนแรงขึ้น ไม่ใช่ลำพังจากเสียงนักศึกษาอย่างเดียว

แม้นฟาก “คนกลุ่มอยากเลือกตั้ง” นำโดย “จ่านิว” หรือ “สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์” จากรัฐศาสตร์ มธ. และรังสิมันต์ โรม หรือ “โรม” นักศึกษาปริญญาโท นิติศาสตร์ จะมีจุดยืนชัดเจนไม่ให้เกิดการปะทะเจ้าหน้าที่ ระหว่างเดินขบวนออกจาก มธ.มาสู่ทำเนียบรัฐบาลนั้นในเช้าวันที่ 22 พฤษภาคม

Advertisement

แต่การประกาศอย่าง “ขึงขัง” ของฟากเจ้าพนักงานอย่างรองผบ.ตร.ที่ไฟเขียวใช้พื้นที่ชุมนุมเฉพาะใน มธ.ท่าพระจันทร์ เคลื่อนออกมาจากรั้วเหลืองแดงเมื่อไหร่ผิดกฎหมายทันที เพราะตำราจไม่มีอำนาจให้ชุมนุมบนผิวจราจรได้

สำทับด้วยเจ้าของพื้นที่ คือ บช.น.ได้ยื่นคำขาดไปที่แกนนำแล้ว ไม่อนุญาตเคลื่อนขบวน หากฝ่าฝืนดำเนินคดีตามกฎหมาย

พร้อมทั้งคำฝากเตือนถึงนักศึกษาของ “บิ๊กหยม” พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น.ให้คิดถึงอนาคตด้วย เพราะถ้าทำผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี จึงขอให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคำสั่ง3/2558

Advertisement

มีรายงานว่าบช.น.ได้เตรียมกำลังเพื่อภารกิจครั้งนี้ 18 กองร้อย ประมาณเกือบ 2,800 นาย จาก บก.น.1,5,6 ตำรวจภูธรภาค 1 ,2 และ7

ท่าทีของ 2 ฟาก สุ่มเสี่ยงที่เผชิญหน้ากัน ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมือที่ 3 อีก

“ทางออก” น่าจะเป็นการเจรจาต่อรองระหว่างสถานการณ์ชุมนุม ทั้งฟากแกนนำ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” กับฟากตัวแทนเจ้าพนักงาน เพื่อปิด “ความเสี่ยง” ไปสู่กระทบกระทั่งกัน

ผู้บังคับบัญชาที่บัญชาการในพื้นที่ต้องใช้วิจารณญาณแก้ไข “สถานการณ์” เฉพาะหน้า ไม่ยึดหลักนิติศาสตร์อย่างเดียว ต้องมีหลักรัฐศาสตร์ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย

อย่าลืมนอกจากกองทัพสื่อทั้งไทยและเทศจะจับจ้องแล้ว ยังมี “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” (Amnesty International Thailand) เอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คอยสังเกตการณ์

อีกทั้งยัง “เสื้อแดงต่างแดน” อาทิองค์การเสรีไทย, ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลุ่ม RED USA ถ่ายทอดสดโฟกัสตลอด

ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในสายตาชาวโลกตลอด

ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรง สะเทือนรัฐบาล และ คสช.ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image