2 มุมมองว่าด้วย ‘อนาคตราคาน้ำมันโลก’

FILE PHOTO: Oil and gas company Statoil gas processing and CO2 removal platform Sleipner T is pictured in the offshore near the Stavanger, Norway, February 11, 2016. REUTERS/Nerijus Adomaitis/File Photo

ราคาน้ำมันหน้าปั้มในบ้านเราพุ่งสูงจนเริ่มส่งผลกระทบออกไปเป็นระลอกแล้ว ตั้งแต่บริษัทรถบรรทุก ไปจนถึงบริการรถโดยสาร สาเหตุนั้นเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นเพราะราคาน้ำดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ถ้านำราคาน้ำมันโลกในเวลานี้ไปเทียบกับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะพบว่า ระดับราคาปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว เป็นระดับราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 เลยทีเดียว

ราคาน้ำมันในไทยปล่อยลอยตัวตามราคาตลาดโลก ผลจึงเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า ราคาภายในประเทศก็ต้องปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

คำถามสำคัญก็คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะแพงขึ้นไปถึงเท่าใดและอีกนานแค่ไหน

Advertisement

คำตอบของคำถามนี้แม้แต่ผู้ที่ขลุกอยู่กับตลาดน้ำมันโลกอย่าง ซีอีโอของบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ยังเห็นต่างกันออกเป็น 2 มุมมอง

ปาทริค ปูยาน ซีอีโอของ โททาล ยักษ์น้ำมันของฝรั่งเศส มองว่า ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ในอีกไม่ช้าไม่นาน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง

ที่ต่างจากครั้งก่อนซึ่งเกิดขึ้นเพราะอุปสงค์ ปัญหาราคาน้ำมันครั้งนี้เกิดขึ้นจากปัญหาการเมืองโลกเป็นหลัก
ปูยาน ชี้สาเหตุสำคัญไว้ว่า หนึ่งเป็นเพราะปัญหาสหรัฐอเมริกายกเลิกความตกลงนิวเคลียร์ และเตรียมหันมาใช้มาตรการแซงก์ชันอิหร่านใหม่อีกครั้ง

Advertisement

ในเมื่ออิหร่าน เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือ กลุ่มโอเปค การแซงก์ชันของสหรัฐก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันที่อิหร่านส่งออกสู่ตลาดโลก ไม่มากก็น้อย
เมื่อกรณีของอิหร่านบวกเข้ากับปัญหาระดับวิกฤตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอีกรายในอเมริกาใต้อย่าง เวเนซุเอลา ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีแหล่งน้ำมันดิบสำรองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จนทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำมันส่งขายตลาดโลกได้เหมือนที่เคยทำมา ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกก็จะหายไปอีกก้อนใหญ่ และดันราคาให้เพิ่มสูงขึ้นอีก

เหตุการณ์สำคัญทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ กลุ่มโอเปค กับรัสเซีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกนอกกลุ่มโอเปคจำกัดการผลิตอยู่ด้วย ผลก็คือราคาน้ำมันพุ่งพรวดอย่างที่เห็นกัน

ปาทริค ปูยาน ไม่ได้บอกว่าราคาจะถึง 100 ดอลลาร์หรือเกินกว่านั้นนานเท่าใด แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขกันง่ายๆ ในขณะที่ปัญหาในเวเนซุเอลา ยิ่งแก้ยากยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป

หากอนุมานตามข้อมูลข้างต้น ราคาน้ำมันดิบโลกก็คงจะแพงหูฉี่ไปอีกนานทีเดียว

แต่บ็อบ ดัดลีย์ ซีอีโอของ บีพี บริษัทน้ำมันระดับโลกจากอังกฤษ ไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น ดัดลีย์ บอกเอาไว้ตอนที่เห็นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปถึง 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลว่า อีกไม่ช้าไม่นานก็คงตกลงมาอยู่ที่ระดับระหว่าง 50-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เหตุผลสำคัญของ ดัดลีย์ ก็คือ ผลผลิตของอิหร่านควรจะลดลงไม่มากนัก อย่างมากที่สุดแล้วปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านที่จะเข้าสู่ตลาดโลก น่าจะลดลงไปราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน คงเหลืออีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ข้อสังเกตอีกประการก็คือ ปัญหาวิกฤตในเวเนซุเอลา ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้วจนไม่สามารถรักษาระดับการผลิตเดิมไว้ได้ หรือผลิตได้ก็ส่งออกไม่ได้เพราะบริษัทแห่งชาติน้ำมันเวเนซุเอลา มีปัญหาคาราคาซังในศาลอยู่กับบริษัทน้ำมันข้ามชาติอยู่มากมาย หลังสุดเพิ่งแพ้คดีกรณียึดกิจการ โคโนโค ฟิลลิปส์ บริษัทน้ำมันอเมริกันไปหมาดๆ จึงไม่น่าเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกในเวลานี้

นอกจากนั้น ข้อมูลของทางการสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปี 2561 นี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินน้ำมันในสหรัฐอเมริกา เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นสูง จนถึงระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สามารถชดเชยการหายไปของปริมาณน้ำมันจากอิหร่านได้สบายๆ เหมือนกับที่ตลอดปีที่ผ่านมา เคยชดเชย

การลดกำลังการผลิตของโอเปคกับรัสเซียมาแล้วนั่นเอง
นั่นยังไม่รวมถึงกรณีที่ โอเปค อาจกลับมาเพิ่มผลผลิตของตัวเองอีกครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันโลกเอาไว้

ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุดที่ว่า ราคาน้ำมันระดับที่สูงเกินไป ตั้งแต่ 80-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือเกินกว่านั้น ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกหรือประเทศใดๆ เลย

ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันด้วยนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image