‘อุดมศึกษา’ ใต้เงา ‘ก.วิทย์ นวัตกรรมและอุดมฯ’ ดับฝัน..ชาวมหา’ลัย

จำได้ว่าก่อนที่ “ทบวงมหาวิทยาลัย” จะเปลี่ยนเป็น “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)” ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นการ “ปฏิรูประบบราชการไทย” ครั้งใหญ่ในรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนหนึ่งเล่าให้ฟังแบบขำๆ ว่า “ศธ.ของประเทศอื่นๆ หลายประเทศ มาดูงานทบวงฯ ของไทย แล้วกลับไปแยกส่วนงานอุดมศึกษาออกมา จัดตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษา หรือกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย ปรากฏว่างานอุดมศึกษาพัฒนาไปได้ไกล แต่ไทยซึ่งเป็นต้นแบบของงานอุดมศึกษา กลับยุบทบวงฯ ไปรวมอยู่ภายใต้ ศธ.ซึ่งงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แตกต่างจากอุดมศึกษามาก”

แม้จะเล่าไปหัวเราะไป แต่รู้สึกได้ว่า “หมดหวัง” กับอนาคตของอุดมศึกษาไทย!!

หลังจากทบวงฯ ไปอยู่ภายใต้ ศธ.ในฐานะ สกอ.มากว่า 10 ปี ก็เป็นบท “พิสูจน์” ได้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนั้น ถือเป็นความ “ผิดพลาด” อย่างใหญ่หลวง

Advertisement

เพราะการ “ปฏิรูปอุดมศึกษา” ทั้งระบบ ไปไม่ถึงไหนแล้ว งานอุดมศึกษา นับวันยิ่ง “ถอยหลังเข้าคลอง”
เนื่องจากการบริหารงานอุดมศึกษา ต้องการความ “อิสระ” และ “คล่องตัว” แต่เมื่อไปรวมอยู่ใน ศธ.แล้ว กลับกลายเป็น “เด็กเล็กๆ” ที่ถูก “ควบคุม” และ “สั่งการ” เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะขยับตัวทำอะไรก็ติดขัดขั้นตอนมากมาย

ทำให้ชาวอุดมศึกษารวมตัวกัน “เคลื่อนไหว” เพื่อขอแยก สกอ.ออกจาก ศธ.มาโดยตลอด

กระทั่งในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชาวอุดมศึกษาดูเหมือนจะมี “ความหวัง” เมื่อเรื่องนี้ได้รับการตอบสนองมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ

Advertisement

โดย นพ.อุดม คชินทร ในช่วงที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ได้เดินหน้าศึกษา และยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. …

ขณะที่ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ. … คู่ขนานกันไป

ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ และสอบถามความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็คาดว่าจะได้รับการปรับแต่งให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีผลบังคับใช้

แต่แล้วชาวอุดมศึกษาก็ต้อง “ฝันสลาย” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ “ฟันธง” ให้จัดตั้งกระทรวงใหม่ โดยควบรวม “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)” และหน่วยงานด้านการวิจัย เข้ากับ สกอ.และจัดตั้งเป็น “กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา”

เพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เตรียมประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเรื่องคน งานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แยกจากกันไม่ได้

และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้เปลี่ยนจากชื่อกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา เป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา

เรียกว่าทำเอาชาวอุดมศึกษา “ฝันค้าง” กันเลยทีเดียว

โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาล “ทบทวน” เรื่องนี้

เพราะถ้าดูจากภาระงานแล้ว งานอุดมศึกษาเป็นเพียง “เสี้ยว” หนึ่งในกระทรวงใหม่

การบริหารงานที่อิสระ และคล่องตัว อย่างที่เคยคาดหวังไว้ จะยังมีอยู่หรือไม่

หรือจะถูก “ควบคุม” และ “สั่งการ” ไม่ต่างไปจากเดิม

หากเป็นเช่นนั้น “อุดมศึกษา” จะอยู่ภายใต้ “ศธ.” หรือ “กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ” จะ “แตกต่าง” กันตรงไหน??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image