แรงต้านจากชาวมหา’ลัย ทำกระทรวงใหม่สะดุด??

ถึงนาทีนี้ถ้ารัฐบาลคิดว่าการควบรวมสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา จะทำได้โดยง่ายละก็ต้องบอกว่าอาจต้องคิดใหม่เพราะประเมินแล้วมีแรงต้านจากชาวมหาวิทยาลัยพอสมควร

ด้วยทันทีที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ วท. ออกมาให้ข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวให้ควบรวมหน่วยงานเหล่านั้นมาเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา ก็เกิดความเห็นที่แตกแยกเป็นสองฝ่ายทันที ฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่สวมหัวโขนที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ความเป็นกลางด้วยว่ายังต้องประสานความร่วมมือกับรัฐบาล ออกมาให้ความเห็นกลางๆ เชิงแบ่งรับแบ่งสู้ ขณะที่อีกฟากซึ่งเป็นนักวิชาการโดยไม่อิงกับกลุ่มการเมืองใด แสดงความเห็นต่อต้านเต็มที่ถึงกับวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์การดึง สกอ.ไปควบคุมเพื่อจัดตั้งกระทรวงใหม่ว่าเป็นการหนีเสือปะจระเข้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546-2547 ที่มีการปฏิรูปโครงสร้าง รัฐบาลดึงทบวงมหาวิทยาลัยมารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีสถานะเป็น 1 ใน 5 องค์กรหลักภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ศธ.นั้น ครั้งนั้นรัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อให้การจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษาเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อจะปฏิรูปการเรียนการสอน ปฏิรูปการวัดผลประเมินผลระดับ ม.6 ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะได้สอดรับไปในทิศทางเดียวกันด้วยว่าอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน สามารถสั่งการได้ง่าย

ทว่า 10 ปีผ่านไปชาวอุดมศึกษาค้นพบว่าการควบรวมกับ ศธ.เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ด้วยว่าเป็นกระทรวงใหญ่ อุ้ยอ้ายเทอะทะ ไม่คล่องตัว ไม่เป็นอิสระในการบริหารจัดการ ไม่ต่างจากลูกเมียน้อยด้วยว่าเจ้ากระทรวงทุ่มความสนใจไปที่การศึกษาระดับขั้นพื้นฐานซึ่งก็ไม่แปลกด้วยว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีปัญหามากกว่าเมื่อเทียบกับระดับอุดมศึกษา แถมติดระบบราชการที่ว่า ถึงแม้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) จะเป็นซี 11 เท่ากับปลัด ศธ. ที่เป็นซี 11 เหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติหลายเรื่องที่เลขาธิการ กกอ.ชงให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา กลับต้องผ่านการกลั่นกรองจากปลัด ศธ.ก่อน ชาวมหาวิทยาลัยจึงมองว่าล่าช้า ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่จะขอแยกออกมาจากกระทรวงศึกษาฯ พร้อมกันนั้นมีการยกร่างกฎหมายโดยพยายามสกัดรัฐมนตรีไม่ให้เข้ามาล้วงลูก โดยให้ทำหน้าที่แค่กำกับเท่านั้น

Advertisement

ฉะนั้นเมื่อการรื้ออุดมศึกษาในครั้งนี้ กลายเป็นว่าโยก สกอ.ซึ่งคุมมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ไปอยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากการเปลี่ยนแค่สังกัดนั้น ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งถึงกับต่อต้านอย่างหนัก ถึงกับบ่นในหมู่อาจารย์ด้วยกันว่าชาวมหาวิทยาลัยพยายามต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้มหาวิทยาลัยหลุดจากความเป็นทาส แต่กลับเอาพวกเขากลับไปเป็นทาสอีก

ไม่แปลกที่เกิดแรงต้านจากชาวมหาวิทยาลัยด้วยว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็น แถมไม่มีงานวิจัยรองรับ ฉะนั้นการที่รัฐมนตรีว่าการ วท.ออกมาให้ข่าวซึ่งไม่ว่าจะเป็นแค่การโยนหินถามทางหรือเป็นการตัดสินใจขั้นเด็ดขาดของรัฐบาลแล้วก็ตาม แต่อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือถ้าโครงสร้างกระทรวงใหม่ที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวมหาวิทยาลัยที่ต้องการความเป็นอิสระ คล่องตัว ไม่ถูกล้วงลูกจากนักการเมืองที่มาเป็นรัฐมนตรี

ถึงแม้รัฐบาลจะอ้างว่าการควบรวมเพื่อตั้งกระทรวงใหม่ในครั้งนี้จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์ของชาวอุดมศึกษาดังกล่าว ก็แน่ชัดว่าการควบรวมครั้งนี้ไม่ราบรื่นโดยง่ายแน่

Advertisement

ต้องลุ้นว่ารัฐบาลจะใช้ไม้ไหนไปเกลี้ยกล่อมมหาวิทยาลัย ในขณะที่รัฐบาลเองก็มีเวลาจำกัด ด้วยว่าจะต้องทำให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้ง!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image