ไม่เดือดร้อน ไม่ร้องขอ “ม.44” งดเว้น “ไพรมารีโหวต”

ระบบ “ไพรมารีโหวต” ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นครั้งแรกนี้ มองกันว่า เป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปการเมือง

แต่เชื่อได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจมากนัก

อธิบายง่ายๆ คือ ให้สาขาพรรคโหวตเลือกบุคคลให้ตัวแทนของพรรค ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ

ฝ่ายที่กำหนดให้มีระบบไพรมารีโหวต ให้เหตุผลว่า เป็นการปลดปล่อยพรรคการเมืองให้หลุดพ้นจากการครอบงำจากนายทุน หรือผู้มีอำนาจบารมีในพรรค ที่สามารถกำหนดทิศทางของพรรค และการวางตัวผู้สมัคร ส.ส.

Advertisement

เป็นการปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ระบบไพรมารีโหวตทำให้พรรคเสียสิทธิในการกำหนดตัวผู้สมัคร และทำให้ระบบสืบทอดทายาททางการเมืองกลับมา โดยมีความเป็นไปได้ที่กรรมการสาขาพรรคจะส่งทายาทหรือคนใกล้ตัวลงสมัคร หรือการล็อบบี้ ซื้อเสียงให้คัดเลือกคนใดคนหนึ่ง สุดท้ายจะสร้างความแตกแยกในพรรคการเมือง

แต่เมื่อพ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองใหญ่โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ต่างก็ทำใจยอมรับและพร้อมปฏิบัติตาม

Advertisement

กระทั่ง คสช.มีคำสั่งที่ 53/2560 ออกมาแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ให้สมาชิกพรรคทำหนังสือยืนยันสถานะต่อหัวหน้าพรรค พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน สมาชิกที่ไม่ยืนยันสถานะ จะพ้นสภาพสมาชิกพรรคการเมืองนั้นไปโดยอนุมัติ

ซึ่งเป็นการเซตซีโร่สมาชิกพรรค ทั้งที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองให้การรับรองและคุ้มครองสมาชิกพรรคให้คงอยู่ต่อไป

พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จึงร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ การยืนยันสถานะสมาชิกพรรคตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฎว่า สมาชิกของแต่ละพรรคหดหายไปจำนวนมาก

พรรคการเมืองจึงกังวลว่า จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ตามระบบไพรมารีโหวต ในกรณีที่พรรคการเมืองจะผู้สมัครส.ส.ในทุกเขตเลือกตั้ง หรือ 350 เขต

นักการเมืองบางคนจึงต้องออกเรียกร้องให้มีการใช้มาตรา 44 เพื่องดเว้น “ไพรมารีโหวต” ในการเลือกตั้งครั้งแรก คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามโรดแมปของ คสช.

เพราะหากไม่ทำตามระบบไพรมารีโหวต ก็จะมีโทษตั้งแต่ปรับ จำคุก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรค

ซึ่งหากไม่มีคำสั่ง คสช.53/2560 ที่แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองให้เซตซีโร่สมาชิกพรรค ก็เชื่อว่า คงไม่มีเสียงเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ในการงดเว้นไพรมารีโหวต

เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนชอบมาตรา 44

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image