เล่ห์พ่อค้าหวนคืน : ตรึงราคาแต่ลดไซซ์ กับวลี “คำนึงถึงความรู้สึกประชาชน” โดยนวลนิตย์ บัวด้วง

ของกินของใช้แพงขึ้นจริง หรือ แค่รู้สึกไปเอง !!! ยังเป็นเรื่องหักล้างกันไม่ลง ระหว่างหน่วยงานราชการ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และ ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ

ถึงตอนนี้ ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ดาหน้าออกมายืนยัน “ยังไม่มีเหตุผลอันควร” ที่จะปรับขึ้นราคาขายปลีกสินค้าหรือบริการ นั่นหมายถึง ของกินของใช้ไม่ได้แพงขึ้น

กระทรวงพลังงาน ใช้มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นำเงินกองทุนเชื้อเพลิงในส่วนของแอลพีจีชดเชยราคาแอลพีจี ทำให้แก๊ซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม/ถัง ซึ่งเป็นขนาดที่มีการใช้ตามบ้านและร้านค้าย่อยมากสุดกว่า 90% เพื่อพยุงราคาให้เหลือ 363 บาทต่อถัง จากที่ขยับต่อเนื่องถึง 395 บาทเมื่อรวมค่าส่งอย่างต่ำอีกถังละ 25-50 บาท ก็เกิน 410 บาท พร้อมมีมติให้ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคา 50% ของราคาที่จะปรับขึ้น เริ่มตั้งแต่ 28 พฤษภาคม โดยอ้างเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพจากผลกระทบหากราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้น

ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยันเป็นมติที่เหมาะสม เพราะ รัฐบาลไม่ได้บริหารโดยยึดหลักเศรษศาสตร์หรือกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงความรู้สึกประชาชนด้วย

Advertisement

โดยหวังว่ามติ กบง.จะช่วยสกัดความรู้สึกว่าแบกภาระของแพงขึ้นไม่ไหวให้คลายลง แต่ในความเป็นจริงความตื่นตัวความวิตกยังคาใจ!!

เพราะใต้ร่ม กระทรวงคมนาคม ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ดูจะวุ่นวายและคงลากยาว เนื่องจากต่างยึดจุดยืนของตน ว่า ” อย่างไรก็ต้องปรับขึ้นค่าโดยสารหรือค่าตั๋ว ” ตั้งแต่ สมาคมผู้ประกอบการโดยสารขนส่ง ประกาศเดินหน้าเรียกร้องขอขึ้นอัตราโดยสารรถวิ่งข้ามจังหวัด อ้างตรึงดีเซล 30 บาทก็ไม่ได้ช่วยอะไรคงต้องแบกรับภาระเหมือนเดิม หรือสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง(รถร่วมขสมก.)อ้างต้องขึ้นเพราะอั้นมานาน 3 ปีแล้ว เช่นเดียวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) อ้างตรึงค่าตั๋วใช้อัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2538 และกำลังพิจารณาปรับแน่ปีนี้ หรือ กลุ่มขับขี่รถแท็กซี่สุวรรณภูมิ ออกมาทวงสัญญาจากทางการว่าจะให้ปรับเพิ่มได้อีก5% ตอนนี้อาจเหลือแค่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ยืนยันไม่มีนโยบายปรับขึ้นราคา แต่ก็เปรยว่าอยู่ในขั้นตอนศึกษาอัตราค่าโดยสารใหม่!!!

ยังไม่รวมถึงการโดยสารทางน้ำ ทางอากาศ ส่งสัญญาณแล้วว่าอาจอั้นไม่ไหว ต้องทยอยปรับราคาแล้ว ซึ่งจะชัดเจนตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

จึงฝากความหวังไว้ที่ กระทรวงพาณิชย์ ผู้ถือกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และถือไม้เรียว ค่อยกำหนาบพ่อค้าแม่ค้า ไม่ให้แตกแถว “ตรึงราคา” ก็ได้ทำหน้าที่ครบถ้วน เมื่อมีมติ กบง.ออกมา ตั้งแต่ เรียกผู้ผลิตมาประชุมพร้อมให้ยืนยันต่อหน้าสื่อมวลชนว่า จะยังไม่แผนปรับขึ้นราคาขายปลีก แถมจูงใจด้วยการเสนอว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นอีก หากทำสินค้าราคาต่ำกว่าปกติ ป้อนร้านธงฟ้าประชารัฐที่จะมีผู้มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 11 ล้านคน เข้าใช้จ่ายแน่ๆเดือนละ 300-500 บาท/คน

ฟังอย่างนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆใจชื่น สินค้าคงไม่แพงขึ้นอีก แต่เมื่อไปสำรวจเรื่องร้องเรียนตามพฤติการณ์ประชาชนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 กลับเห็นสัญญาณ “ตีเนียน” ของผู้ผลิต จากจำนวนเพิ่มขึ้นของผู้ร้องเรียนขอให้กระทรวงพาณิชย์ไปตรวจบางสินค้าวางขายในร้านธงฟ้าประชารัฐ “น้ำหนักลดลง” แต่ยังคงขายราคาเท่าเดิม รวมถึงขอให้สำรวจน้ำหนักก๊าซบรรจุในถังขนาดเล็กๆ ด้วยว่าเต็มกิโลกรัมหรือเปล่า

เรื่องนี้ใช่เป็นเรื่องใหม่ มักเกิดขึ้นมาคู่กับเมื่อตัวแปรต่อต้นทุนผู้ค้าสูงขึ้น แต่ถูกกดให้ตรึงราคาขาย หรือ แม้ยื่นเรื่องขอปรับราคากับทางการ ก็จะถูกเรียกมาขอความร่วมมือ อย่าเพิ่งเลย!! ดังนั้น ลดไซซ์หีบห่อหรือลดน้ำหนัก แต่ปิดฉลากเท่าเดิม” จึงเป็นทางออกของผู้ค้าโดยธรรมชาติค้าขายต้องมีกำไร หยิบมาใช้

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดซ้ำซาก วนเวียนมากว่า10 ปี แต่กฎหมายภาครัฐก็ยังหวดไม่ถึงสักครั้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image