“ยาฆ่าหญ้า” ยังใช้ต่อ สวนทางข้อบ่งชี้ทางวิชาการ ถึงเวลา (ต้อง) สังคายนาแล็บไทย

หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม อนุญาตให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในภาคเกษตรกรรมแบบจำกัดการใช้ และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจัดทำแนวทางการจำกัดการใช้เสนอกลับให้พิจารณาภายใน 60 วัน

แน่นอนว่า ในฟากของเครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรทางเลือก และนักวิชาการสายสุขภาพ ในนาม “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตราย 369 องค์กร” ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติดังกล่าวทันที และหากไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางเสียก่อน การชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจะมีขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายนนี้แน่นอน

กรณีนี้หากมองในแง่ของผู้บริโภคแล้ว มีเหตุผลที่ต้องแบนสารทั้ง 3 ชนิด เพราะผลวิจัยใหม่ชี้ชัดว่า 1.มีพิษเฉียบพลันสูง ซึ่งพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 10 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการใช้สารดังกล่าว 2.เกิดพิษเรื้อรัง โดยพาราควอตทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ส่วนคลอร์ไพริฟอสมีผลต่อสมองทารก 3.พบการตกค้างตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง คือ พบพาราควอตในน้ำ ดิน พืชอาหาร ปู ปลา หอย ที่สำคัญตกค้างในแม่ตั้งครรภ์และส่งผลถึงทารกในครรภ์ และพบในขี้เทาเด็กแรกเกิดที่มีแม่เป็นเกษตรกรมากกว่าครึ่ง ส่วนคลอร์ไพริฟอสตกค้างมากที่สุดในผัก 4.หากตกค้างในอาหารจะล้างไม่ออก โดยเฉพาะพาราควอตยิ่งเคี่ยวยิ่งเข้มข้นมากขึ้น 5.มากกว่า 50 ประเทศ แบนแล้ว ทั้งประเทศคิดค้น ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ และประเทศเพื่อนบ้าน และ 6.แม้จะจำกัดการใช้ก็ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา เพราะหน่วยงานในประเทศไทยไร้ประสิทธิภาพ

มีโอกาสได้พูดคุยกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ได้ข้อมูลมาว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2560 ไทย-แพน ลงทุนเก็บตัวอย่างผักสลัดที่มีวางจำหน่ายทั่วไปทั้งในตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ประมาณ 30 ตัวอย่าง ส่งไปให้ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของConcept Life Sciences ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นห้องแล็บที่เชื่อถือได้ เพราะผ่านการรับรอง ISO 17025 ตรวจสอบหาสารพิษตกค้างในผักสลัดทั้งหมด เพียง 7 วัน มีการส่งผลการตรวจระบุว่า พบว่าในจำนวนผักสลัดทั้งหมดมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 60 โดยสารพิษที่ตกค้างเป็นกลุ่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาทิ กลุ่มฟิโพรนิล (Fipronil) ไฟแลคคลอสโตรบิน (pyraclostrobin) คลอร์ฟูลอาซูรอน (Chlorfluazuron) อิมิดาคลอพริด (Imidacloprid) และสไปนีโทแรม (Spinetoram) นอกจากนี้ ยังพบปุ๋ยตกค้าง แต่น่าแปลกใจตรงที่ ผักชนิดเดียวกัน เมื่อมีการนำไปตรวจในห้องแล็บของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กรมวิชาการเกษตร กลับไม่พบว่าในผักมีสารพิษเหล่านี้ตกค้างหรือปนเปื้อน เนื่องจากปกติจะเฝ้าระวังเฉพาะสารกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมตออร์แกโนคลอรีน และไพรีทรอยด์เป็นหลัก ไม่นิยมเฝ้าระวังสารกลุ่มอื่นๆ และที่สำคัญเคยส่งตรวจที่แล็บของหน่วยภาครัฐ ใช้เวลาตรวจนานมากถึง 45 วัน กว่าจะรู้ผล ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์

Advertisement

ในช่วงปี 2559-2560 ไทย-แพน มีการส่งตัวอย่างผัก ผลไม้ ที่สุ่มเก็บจากตลาดห้างร้านไปตรวจหาสารพิษตกค้างอีก 450 ตัวอย่าง พบว่า ครึ่งหนึ่งมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดไว้ และในจำนวนที่พบสารตกค้างมีสารเคมีมากถึง 101 ชนิด ในจำนวนนี้ เป็นสารที่ประเทศไทยสามารถตรวจพบเพียง 20 กว่าชนิดเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นสารกลุ่มอื่นๆ ที่นำเข้ามาใช้แต่ไม่มีการเฝ้าระวัง และอีกส่วนหนึ่งเป็นสารที่ไทยยกเลิกการใช้แล้ว แต่ภาครัฐยังจัดการเก็บและควบคุมไม่ได้ และอีกส่วนหนึ่งไม่มีประวัติการนำเข้า

ไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมในบ้านเราตรวจไม่พบ แต่มักมีข้อมูลว่า ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปมักส่งคืนสินค้าทางการเกษตรจากประเทศไทย ก็คงเพราะหน่วยงานภาครัฐของไทยยังเฝ้าระวังกันด้วยอุปกรณ์ตรวจสอบอย่างง่าย (test kit) ทั้ง อย. และกรมวิชาการเกษตร และเฝ้าระวังแค่สารกำจัดแมลง 4 กลุ่ม ซึ่งครอบคลุมเพียงร้อยละ 10 ของสารที่มีการขึ้นทะเบียน อีกร้อยละ 90 ไม่มีการเฝ้าระวัง ปัญหาคือ ถ้าในบ้านเรายังใช้แค่ Test kit ต่อไป ก็ไม่มีทางพบปัญหาแน่นอน
แบบนี้ถึงเวลาหรือยังที่ต้องสังคายนาแล็บไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image