ปม”เวเนซุเอลา” กับราคาน้ำมันโลก

Venezuela's President Nicolas Maduro and first lady Cilia Flores greets the media as they arrive to a military parade at Fort Tiuna in Caracas, Venezuela, Thursday, May 24, 2018. (AP Photo/Ariana Cubillos)

ข้อมูลของ องค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) เมื่อปี 2015 ระบุเอาไว้ว่า เวเนซุเอลา มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วอยู่มากที่สุดในโลก คือ 300,000 ล้านบาร์เรล รองลงมาคือ ซาอุดีอาระเบีย (266,000 ล้านบาร์เรล) อิหร่าน (158,000 ล้านบาร์เรล และ อิรัก (142,000 ล้านบาร์เรล) ตามลำดับ

ข้อมูลของโอเปค เช่นกัน ระบุเอาไว้ว่า ในเวลานี้ เวเนซุเอลา ผลิตน้ำมันดิบได้ราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ลดลงจากที่เคยผลิตอยู่ได้แต่เดิมถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ยิ่งประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ยิ่งถูกสหรัฐอเมริกาแซงก์ชัน เวเนซุเอลา ควรผลิตน้ำมันส่งออก เพื่อนำรายได้เข้ารัฐให้มากๆ เพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่หรือ?

คำตอบสั้นๆ เป็นประการแรกก็คือ น้ำมันดิบใต้ดิน ไม่ใช่เงินสดๆ ที่ฝังดินอยู่ ขุดขึ้นมาแล้วก็ใช้ได้ในทันที

Advertisement

ประการถัดมาก็คือ เปโตรเลออส เดอ เวเนซุเอลา หรือ พีดีวีเอสเอ รัฐวิสาหกิจน้ำมันของเวเนซุเอลา ตกอยู่ในสภาพบริหารงานผิดพลาด ขาดการลงทุน และถูกควบคุมกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลมานานร่วม 2 ทศวรรษแล้ว

การเข้าไปควบคุม พีดีวีเอสเอ ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาล เนื่องจาก 96 เปอร์เซ็นต์ของเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลมาจากการส่งออกน้ำมัน เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้ง ฮูโก ชาเวซ ต้นตำรับนโยบายประชานิยมของเวเนซุเอลายังครองอำนาจ เมื่อปี 2002 มีความพยายามทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มชาเวซ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ พีดีวีเอสเอ หยุดงานประท้วงกดดันต่อประธานาธิบดี ผลลัพธ์ก็คือ ชาเวซ จัดการไล่พนักงานน้อยใหญ่ของรัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งนี้ออกไปถึง 18,000 คน

ไล่ออก โดยไม่สนใจถึงความชำนัญพิเศษใดๆ ที่บางคนมีอยู่ในการบริหารกิจการน้ำมัน

Advertisement

ถึงปี 2006 ชาเวซรุกคืบอีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือการเข้าไปควบคุมกิจการแหล่งน้ำมันโดยสิ้นเชิง แล้วจัดการลดการลงทุนเพื่อปรับปรุงกิจการในทุกๆ ด้านลงเหลือน้อยที่สุด กิจการน้ำมันจากต่างประเทศที่เคยให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี ถูกขจัดออกไปทั้งหมด

ผลผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลา เริ่มลดลงมาตั้งแต่ตอนนั้น

การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ นิโกลัส มาดูโร ในเวลาต่อมา ไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น ยิ่งทำให้ปัญหาทุกอย่างหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เหตุผลประการถัดมาก็คือ น้ำมันดิบของเวเนซุเอลา เป็นน้ำมันเกรดต่ำ มีการเจือปนสูงที่เรียกกันว่า “เฮฟวี ครูด ออยล์” ก่อนการส่งออก เวเนซุเอลา จำเป็นต้องแยกสิ่งเจือปนออกก่อนเพื่อให้เหลือน้ำมันดิบที่พร้อมสำหรับการส่งออก เพื่อการนี้ เวเนซุเอลา จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบชนิดไลท์สวีท หรือไม่ก็ก๊าซธรรมชาติเข้ามาเป็นเชื้อเพลิง

ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2016 เวเนซุเอลา จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบไลท์สวีท 500,000 บาร์เรลเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

การแซงก์ชันก็ดี ปัญหาวิกฤตในประเทศก็ดี ไม่ได้ช่วยให้เวเนซุเอลามีแหล่งที่มาสำหรับนำเข้าได้ง่ายดายมากขึ้นแต่อย่างใด

ปัญหาซ้ำเติมของเวเนซุเอลาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การไม่มีเรือบรรทุกน้ำมันสำหรับลำเลียงน้ำมันไปยังจุดหมายปลายทาง

ตามกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ เรือบรรทุกน้ำมันที่สามารถแล่นผ่านทะเลหลวงได้ จำเป็นต้องผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เรือบรรทุกน้ำมันของเวเนซุเอลา ทั้งเก่าแก่ ทั้งสกปรกจากคราบน้ำมันดิบ ไม่ผ่านมาตรฐานที่ว่านั้น

สามารถจัดการว่าจ้างทำความสะอาดได้ แต่ปัญหาก็คือ พีดีวีเอสเอ ค้างค่าทำความสะอาดอยู่จนพอกเป็นหางหมู ไม่มีปัญญาจ่ายอยู่ในเวลานี้

เมื่อเดือนตุลาคมปี 2017 ซอฟคอมฟลอท บริษัทชิปปิงยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ซึ่งเคยให้เช่าเรือบรรทุกน้ำมัน 15 เปอร์เซ็นต์ของเรือบรรทุกน้ำมันที่เวเนซุเอลาใช้ ประกาศยกเลิกการให้เช่า เหตุผลก็คือ เวเนซุเอลา ค้างชำระอยู่ทั้งหมด 30 ล้านดอลลาร์

มีรายงานข่าวไม่ยืนยันบอกว่า เวเนซุเอลา สั่งเรือบรรทุกน้ำมันใหม่จากอิหร่านและโปรตุเกส แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ เพราะเบี้ยวชำระหนี้หลายระลอกรวมมูลค่า 404 ล้านดอลลาร์

ห่วงโซ่ของปัญหาน้ำมันประการสุดท้ายของเวเนซุเอลาก็คือ เรื่องหนี้สิน เมื่อปี 2014 รัฐบาลมาดูโร กู้เงินจากจีน 50,000 ล้านดอลลาร์ จากรัสเซียอีกราว 5,000 ล้านดอลลาร์ โดยใช้น้ำมันดิบใช้หนี้ ว่ากันว่า ราว 1 ใน 4 ของผลผลิตน้ำมันของประเทศ ถูกส่งไปจีนเพื่อใช้หนี้ แต่รอยเตอร์รายงานเมื่อต้นปี 2017 ว่า น้ำมันที่จะใช้หนี้นั้น ไปไม่ถึงจีนมานาน 10 เดือนแล้ว

สิ่งที่นานาชาติกังวลที่สุดกับปัญหาของเวเนซุเอลาในเวลานี้ก็คือ กลัวกันว่า รัฐบาลมาดูโรจะประกาศ “พักชำระหนี้” หรือ “เบี้ยวหนี้” ของรัฐทั้งหมด

ผลกระทบนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าจะมหาศาลแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ก็คือการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้น้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั้งหมดของเวเนซุเอลาไม่สามารถส่งออกได้อีกต่อไป

ระบบผลิตและส่งออกน้ำมันของประเทศจะพังทลายลงในพริบตา

บ็อบ ปาร์คเกอร์ นักลงทุนที่เป็นกรรมการของ ควิลเวสต์ เวลธ์ แมเนจเมนท์ บอกกับซีเอ็นบีซีไว้เมื่อ 28 พฤษภาคมนี้ว่า ถ้าเวเนซุเอลาพังพาบลงเมื่อไหร่ ราคาน้ำมันดิบโลกจะทะยานขึ้นสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือกว่านั้นทันที

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image