ตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ กรณีศึกษา ‘ความถูกต้อง’ กับ ‘ความเป็นจริง’

กรณีคำพิพากษาของศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ที่มีคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกคำสั่งให้เจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่งที่อยู่รอบบ้านของ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ หรือป้าทุบรถ ในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน เขตประเวศ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ พร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยนั้น แม้ขณะนี้ กทม.อยู่ในกระบวนการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ และมีแนวโน้มว่าเจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่ง ก็อาจจะยื่นอุทธรณ์ด้วย แต่ยังไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าในที่สุดแล้ว ศาลจะรับฟังคำอุทธรณ์ดังกล่าวหรือไม่ และหากรับฟังคำอุทธรณ์แล้วจะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร

คดีนี้ ป้าทุบรถกับพวกรวม 4 คน ได้ฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการเขตประเวศ, สำนักงานเขตประเวศ, กรุงเทพมหานคร และนายสุกิจ นามวรกานต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารตลาดว่า พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในหมู่บ้านเสรีวิลล่ามาตั้งแต่ปี 2541 บ้านดังกล่าวปลูกสร้างอยู่บนที่ดินจัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ได้รับความเดือดร้อนรำคาญและเสียหายจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดรอบบ้านพักอาศัย ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่คนงานของตลาดปีนขึ้นลงหลังคาเต็นท์มองเข้ามาภายในบ้าน มีการสาดไฟแรงสูงส่องเข้ามาภายในบ้านยามวิกาล และเกิดมลภาวะทางอากาศจากกลิ่นควันรถยนต์ กลิ่นจากการประกอบอาหาร เสียงดังจากเครื่องขยายเสียงโฆษณาขายสินค้า น้ำเสียและขยะสิ่งปฏิกูลตกค้างอุดตันท่อระบายน้ำจากการทำตลาด แต่เมื่อมีหนังสือร้องเรียนไปยัง กทม.กลับไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาจนต้องฟ้องศาล

หมู่บ้านเสรีวิลล่านั้นอยู่ในที่ดินจัดสรร มีทั้งสิ้น 3 โครงการ ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยของป้าทุบรถ และที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารตลาดทั้ง 5 แห่ง อยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินตามใบอนุญาตเลขที่ 296/2530 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2530 ในโครงการที่ 2 ซึ่งตามวัตถุประสงค์ ผู้จัดสรรที่ดินมีเจตนาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้น และไม่ปรากฏข้อความส่วนใดที่ระบุว่าสามารถจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่ประกอบการพาณิชย์ได้

ศาลพิเคราะห์ว่า การที่ กทม.ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดให้แก่เจ้าของตลาด เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น

Advertisement

นอกจากนี้ การที่เจ้าของตลาดก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดทั้ง 5 แห่ง โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ กทม.ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอน ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ อีกทั้งการที่ผู้อำนวยการเขตประเวศ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดทั้ง 5 แห่ง ที่จัดตั้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำผิดมาตรา 34 พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ และปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้านป้าทุบรถ

เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี 2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรก จนถึงปี 2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถจอดกีดขวางหน้าบ้านป้าทุบ กินเวลา 7 ปีเศษ ถือว่าผู้อำนวยการเขตประเวศปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควร ไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อีกทั้งยังเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้เจ้าของบ้านได้รับความเดือดร้อนเสียหายและต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำพิพากษานี้กำลังกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ให้กับสังคมเมืองใหญ่ หากเกิดข้อพิพาทในลักษณะที่ใกล้เคียงกันนี้อีกในอนาคต

Advertisement

จากคำพิพากษ์นี้ ในที่ดินจัดสรรหมู่บ้านเสรีวิลล่าอาจจะไม่ได้มีเพียงตลาดทั้ง 5 แห่งที่จะต้องถูกคำสั่งรื้อถอน เพราะบนที่ดินจัดสรรทั้ง 3 โครงการ เนื้อที่ราว 200 ไร่เศษ ที่ถูกระบุว่า “ต้องใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้น” ในสภาพความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน ยังพบว่านอกเหนือจาก 5 ตลาดแล้ว ยังมีโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนนานาชาติ ร้านอาหาร ร้านค้า บริษัท อพาร์ตเมนต์ รวมประมาณ 30 ราย ที่อาจเข้าข่าย
เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่บ้าน จะเข้าข่ายถูกรื้อถอนด้วยหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image