บทบาท ‘คุณพ่อรู้ดี’ ปัญหาเกาไม่ถูกที่คัน

มีสัญญาณดีในวันที่ผ่านวัน “ข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ไปหมาดๆ

เป็นของขวัญให้เกษตรกรพี่น้องชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ร่วม 6 ล้านครัวเรือน

กระทรวงเกษตรฯกำลังเตรียมแผนยกระดับความกินดีอยู่ดี

สร้างหลักประกันในชีวิตให้กับคนกลุ่มนี้

Advertisement

หากนายกฯประยุทธ์เห็นด้วยก็จะเดินหน้าทันที

“กฤษฎา บุญราช” รมว.เกษตรฯ ตีปี๊บขายไอเดียดูแลสวัสดิการเกษตรกรทุกสาขา

ยาวไปจนถึงเสียชีวิตก็จะมีค่าชดเชยให้

มีเงินกองทุนคอยคุ้มครอง เหมือนกับเกษตรกรในประเทศที่พัฒนาแล้ว

โปรโมชั่นพิเศษ สำหรับชาวนา 3.7 ล้านครัว

จะมีข้อเสนอจูงใจให้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่น

จำพวกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว

ปักหมุดลดปริมาณผลผลิตที่ไปกดดันราคาให้ตกต่ำ

ชาวนาบ้านไหนอยากเข้าร่วม

ต้องไปลงทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร(ประมาณว่าจะเปิดไม่เกินเดือนกันยายนนี้)

จะได้รับค่าเปลี่ยนอาชีพอีก 2,000 บาท/ไร่

ไม่ว่าด้วยเหตุผลเป็นหน้าที่ปกติของรัฐบาล ต้องรับผิดชอบดูแลทุกข์สุขประชาชน

หรือแฝงนัยยะการเมือง เดินเกมเก็บแต้มตุนคะแนน

สร้างบุญบารมีหลังเลือกตั้งในต้นปีหน้า

สมควรยกมือเชียร์แรงๆ ยิ่งผลักดันสวัสดิการชาวเกษตรกร ต้องนับว่าดีงาม

หลักการโอเค ติดใจบ้างก็คือแนวทางปฏิบัติ

ตัวอย่าง ปรับเปลี่ยนอาชีพชาวนา หรือสร้างโปรแกรมเสริมรายได้

ภาครัฐผลักดันกันมาหลายปีดีดัก

ผลลัพธ์มีสำเร็จอยู่บ้าง แต่นับว่าน้อยไปจนถึงน้อยมากหากเทียบกับความล้มเหลว

ดูกันใกล้ๆ จากตัวเลขผู้ลงทะเบียนคนจนเพื่อรับสวัสดิการจากรัฐกว่า 11 ล้านคน มีคนสนใจเข้าอบรมอาชีพไม่ถึงครึ่ง

(ทั้งที่จูงใจเป็นเงินเพิ่มสวัสดิการให้ด้วย) จนต้องขยายเวลารับสมัคร

นินทากันว่า เหมือนยัดเยียดความปรารถนาดี

เพราะไม่เข้าใจ(พื้นที่) ไม่เข้าถึง(ผู้คน) พัฒนาจึงไม่เกิด

หรือเป้าหมายพลิกผืนนาไปปลูกพืชชนิดอื่น ทำกันมาหลายปี ก็ยังถูกปัดฝุ่น

“ปะผุ”มาผลิตซ้ำ

คำถามช่องทางตลาด ผลผลิตจะไปขายให้ใคร หลักประกันด้านราคา

ยังเป็นโจทย์หลักที่พี่น้องเกษตรกรไม่เชื่อมั่น

ที่สุดของการตัดสินใจ คือเลือกปลูกความคุ้นเคย

ไหนๆจะปรับ จะเปลี่ยน จะช่วยกันแล้ว

ฝ่ายราชการลองเปลี่ยนวิธีคิดดูสักตั้ง

แทนที่จะเป็นคนคิด(เอาเอง) เกษตรกรทำ

มาเป็นเกษตรกรคิด รัฐสนับสนุน

ยอมรับเสียทีของแบบนี้ เกาหลังแทนกันไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image