เดิมพันสันติภาพ ของ “ทรัมป์-คิม”

REUTERS/Jonathan Ernst

การประชุมสุดยอด 1 วัน ภายในโรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซา ในสิงคโปร์ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน สิ้นสุดลงด้วยพิธีลงนามแลกเปลี่ยนเอกสาร “คำประกาศร่วม” เกาหลีเหนือ-สหรัฐอเมริกา ความยาวเพียงหน้ากระดาษเศษ (ดูรายละเอียดคำประกาศร่วมคำต่อคำได้ที่นี่)

แม้ ทรัมป์ พยายามอ้างอย่างเต็มที่ว่า คำประกาศที่ลงนามกันอย่างเป็นทางการดังกล่าว เป็นคำประกาศที่ “ครอบคลุม” มากที่สุดแล้ว แต่เนื้อหาที่คลุมเครือ มีเพียงเป้าหมายกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดและวิธีการในการก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทำให้หลายคนอดไม่ได้ ที่จะแสดงความผิดหวังออกมา

นักสังเกตการณ์บางคนถึงกับออกปากว่า ตลอดทั้งวันเหมือนกับการได้นั่งดู “เรียลิตีโชว์” ระดับโลก ที่ลงเอยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากการทำ “พีอาร์” ตนเองให้โลกได้เห็นกันเต็มที่ แต่ไม่มีอะไรติดมือกลับไปนอกเหนือจากนั้น

ตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ศึกษาของมหาวิทยาลัยวิคตอเรียอย่าง โรเบิร์ต ไอย์สัน ที่เห็นว่า ซัมมิทหนนี้เป็นเหมือนชัยชนะครั้งใหญ่ของ คิม จอง อึน ที่สามารถยกฐานะขึ้นมาเท่าเทียมกับผู้นำชาติมหาอำนาจของโลก ด้วยการสัมผัสมือกันต่อหน้ากล้องเพียง 13 วินาที

Advertisement

หรืออย่างกรณีของ อี ซัง ยุน นักวิชาการด้านเอเชียศึกษาชาวเกาหลีใต้ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับเกาหลีเหนือของมหาวิทยาลัยเทิร์ฟ ในเมืองมีดฟอร์ด รัฐแมสซาชูเสตต์ ที่ใช้ทวิตเตอร์สรุปทัศนะไว้ครอบคลุมกระจ่างชัดอย่างยิ่งว่า “เป็นไปตามที่คาด เคเจยู (คิม จอง อึน) ริเริ่มกระบวนการเจรจาแบบปลายเปิด ที่ยืดเยื้อ เพื่อหลอกล่อสหรัฐอเมริกาให้ติดกับด้วยการยุติการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันทั้งหมด เปิดทางให้จีนและเกาหลีใต้กลับมาให้การอุดหนุนทางการเปียงยางอีกครั้ง แล้วปล่อยให้เกาหลีเหนือยังคงพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และโครงการขีปนาวุธของตัวเองให้รุดหน้าไปได้อีกต่อไป”

ก็เป็นมุมมองที่เป็นเหตุเป็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่า คำประกาศร่วมแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่าย ไม่มีหลายอย่างที่ควรจะมี ตั้งแต่เรื่องกระบวนการ “ปลดอาวุธนิวเคลียร์” ที่สามารถตรวจสอบได้ หรือไม่สามารถรื้อฟื้นกลับคืนได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น รวมถึงไม่มีตารางกำหนดเวลาเป็นขั้นเป็นตอนในการปลดอาวุธ หรือ ข้อตกลงที่หนักแน่นว่าจะมีการเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปดำเนินการในเกาหลีเหนือ

แต่หากมองในมุมกลับกัน โดยคำนึงถึงว่า สหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ เป็นปฏิปักษ์กันมายาวนานถึง 20 ปี ผลการประชุมที่ออกมาเช่นนี้ก็สามารถถือได้ว่า “ดีที่สุด” เท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว

Advertisement

ดีกว่าการยืนกรานในรายละเอียดที่ชัดเจนในทุกๆ เรื่องแล้วลงเอยด้วยการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สะบัดหน้าลุกหนีจากการประชุมไปอย่างแน่นอน

ดีกว่าการเผชิญหน้า และท้าทายกันด้วยคำพูดแข็งกร้าวที่ทำให้ทั่วทั้งโลกหนาวๆ ร้อนๆ จากความเป็นไปได้ของ “สงครามนิวเคลียร์” แน่ๆ เช่นเดียวกัน

ผู้ที่ยอมรับทัศนะเช่นนี้ ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า กระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ และระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล ไม่ใช่เรื่องที่จะทำแล้วเสร็จได้ง่ายๆ หากแต่เป็นกระบวนการที่ยืดยาว ไม่ใช่เป็นหลายปี แต่เป็นนับสิบปีด้วยซ้ำไป

แม้ในการแถลงข่าวหลังการประชุมสุดยอด ทรัมป์ จะพยายามยืนยันในรายละเอียดหลายๆ อย่าง อาทิ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ต้องสมบูรณ์แบบ ต้องตรวจสอบได้และต้องฟื้นคืนมาไม่ได้ แต่ในรายละเอียดยังต้องว่ากันอีกมากมายหลายยก รวมถึงการกำหนดตัวบุคคลและหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยันขั้นตอนการทำลายอาวุธนิวเคลียร์

 ข้อดีที่สุดที่ทั้งโลกได้จากคำประกาศร่วมของทรัมป์กับคิม ในครั้งนี้ก็คือ ซัมมิทหนนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะมีการเจรจาสานต่ออย่างต่อเนื่องต่อไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ของสหรัฐอเมริกาคือ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ส่วนของเกาหลีเหนือก็แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้ใดที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ

แม้แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ยอมรับในการแถลงข่าวว่า ความตกลงครั้งนี้สามารถพลิกผันเลิกล้มได้ทุกเมื่อ ไม่มีใครแน่ใจในทุกๆอย่างได้ และยอมรับว่า เป็นไปได้เช่นกันว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าตนก็อาจต้องออกมายอมรับว่า “คิดผิดไปแล้ว” ก็เป็นได้

แต่ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง อึน เองก็ตระหนักดีว่าการล้มข้อตกลงครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร อย่างน้อยที่สุดคือการกลับไปสู่ภาวะเผชิญหน้ากันเครียดเขม็งอีกครั้ง อย่างมากที่สุดมันอาจหมายถึงสงคราม!

ความตกลงที่เกิดขึ้นบนเซนโตซา ไม่ว่าจะเกิดจากรูปแบบแปลกแปร่งเพียงใด ก็เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของผู้นำทั้งสอง

รางวัลในการเดิมพันครั้งนี้คือสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์สำหรับทั้งบนคาบสมุทรเกาหลีและสำหรับทั้งโลก

 ลงทุนเดิมพันด้วยสันติภาพ ย่อมดีกว่าพนันกันด้วยสงครามแน่นอน หรือไม่จริง?

คลิ๊กที่นี่อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image