ห้ามพระจับเงิน : ใครเห็นด้วย..ยกมือขึ้น

ช่วงนี้วงการผ้าเหลืองค่อนข้างร้อนฉ่า ภายหลังกองปราบปรามนำเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมหมายศาล คดีทุจริตเงินงบประมาณเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือ “เงินทอนวัด” เข้าจับกุมพระสงฆ์หลายรูป

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม (มส.) ทั้งสิ้น

คดีเงินทอนวัดยังไม่ทันซา พระสงฆ์องค์เจ้าบางรูป และบรรดาศิษยานุศิษย์ ยังไม่ทันหายจากอาการมึนงงดี
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็ถือโอกาสนี้ ทำหนังสือด่วนที่สุดไปถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ทุกจังหวัด ขอข้อมูลวัดที่มีการ “วางระบบเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินและบัญชีของวัด”

โดยให้เวลารายงานข้อมูลกลับมา นับจากวันที่มีหนังสือออกไปแค่ 4 วัน
ทำเอาแวดวงสงฆ์ และบรรดาเครือข่ายผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา ลุกเป็นไฟขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังข่าวถูกแพร่กระจายออกไป และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในโซเชียลมีเดีย

Advertisement

เพราะลึกๆ ต่างกังวลว่า พศ.ต้องการ “ตรวจสอบ” เงินในบัญชีของพระ และของวัดทั่่วประเทศ ใช่หรือไม่??
แม้หนังสือจะระบุว่า เป็นการขอข้อมูลจากวัดทั่วประเทศที่มีการวางระบบเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินและบัญชีของวัด กรณีที่พระภิกษุสงฆ์มิต้องถือ “เงินสด” แต่จะนำเงินเข้าบัญชีส่วนกลางของวัดทันทีเมื่อได้รับ

ซึ่้งหากมองย้อนกลับไปช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ มีความพยายามจากหลายฝ่าย เรียกร้องให้ “ปฏิรูป” วงการสงฆ์ รวมถึง การตรวจสอบบัญชีของ “พระ” และบัญชีของ “วัด” ด้วย

ถึงขั้นมีผู้เสนอแบบสุดโต่งว่า “ไม่ให้” พระจับเงิน โดยอ้างพระวินัยปิฎก ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทไว้ ว่าไม่ให้พระภิกษุรับ ใช้ให้คนอื่นรับ หรือแม้กระทั่งยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ตน

Advertisement

เหล่านี้เนื่องจากปัญหา “ฉาวโฉ่” มากมายที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์ โดยเฉพาะกับพระเถระผู้ใหญ่ หรือพระที่มีชื่อเสียง ที่มีลูกศิษย์ลูกหานับหน้าถือตา ถ้าไม่มาจากเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็เรื่อง “สีกา” ทั้งสิ้น

ล่าสุด นายณรงค์ ทรงอารมณ์ รองผู้อำนวยการ พศ.และโฆษก พศ.ชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเงินทอนวัด แค่ขอทราบแนวปฏิบัติได้จริง เพราะหลักการคือภิกษุสงฆ์ไม่ต้องถือเงิน แต่ผ่านบัญชีส่วนกลาง เพื่อให้วัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ นำไปพิจารณาปรับใช้ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป

ฉะนั้น บันทึกดังกล่าวเพียงเพื่อหา “ตัวอย่าง” วัดที่พระไม่จับเงิน รวมถึง อะไรก็ตามที่มีค่าในการแลกเปลี่ยน ซื้อ ขายได้ เช่น ธนบัตร เหรียญ เช็ค บัตรกดเงินสด บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต ฯลฯ

เพราะการรับเงินทอง จึงเป็นการ “ผิดพระวินัย” และเป็น “อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์” แก่พระภิกษุที่รับ
เพื่อที่ พศ.จะใช้เป็น “ต้นแบบ” ให้วัดอื่นๆ นำไปปรับใช้ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย
“เหตุผล” ของ พศ.จะมีเท่านี้จริงๆ หรือไม่

แต่ดูเหมือนตัวแทนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายทนายและประชาชนปกป้องพระพุทธศาสนา ดูจะ “ไม่เชื่อ” น้ำคำของ พศ.เท่าใดนัก…

เพราะมองว่า พศ.ทำเรื่องนี้โดยไม่ปรึกษาหารือคณะสงฆ์เลย
แต่เป็นการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว เหมือน “คิดเอง..พูดเอง..เออเอง”

ซึ่ง พระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส และประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ประกาศเสียงดังว่าจะจับตาดูการทำงานของ พศ.ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ นายวรกร พงศ์ธนากุล ประธานเครือข่ายทนายฯ ได้ยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการ พศ.ว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใด พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินดคีกับผู้อำนวยการ พศ.เพราะอาจมีความผิดเข้าข่ายมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา

อย่างไรก็ตาม หากจับ “สัญญาณ” จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงคณะสงฆ์ในขณะนี้ เชื่อได้ว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนการปูทางไปสู่การ “ปฏิรูปวงการสงฆ์” ครั้งใหญ่เลยทีเดียว

เพื่อส่งเสริมให้พระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่แล้ว สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างราบรื่น

ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่อาจไม่อยู่กับร่องกับรอย หรือไม่อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย หากไม่ปรับตัว และไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็อยู่ลำบาก

ฉะนั้น แนวโน้ม หรือสิ่งที่พระสงฆ์ และกลุ่มเครือข่ายปกป้องพระพุทธศาสนา ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเพราะไม่เห็นด้วยกับ พศ.นั้น…

เนื่องจากลึกๆ กังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ คืออาจมีคำสั่ง หรือแนวปฏิบัติให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่อง “ห้ามพระจับเงิน”

ที่จนถึงวินาที..น่าจะมีความเป็นได้สูงอย่างยิ่ง!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image