เรียงคนมาเป็นข่าวสเปเชียล

⦁…ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม ขออนุญาตยกพื้นที่ให้กับ “โอลิมปิก โตเกียว 2020” อีกครั้ง เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวในการประสานงาน ในการผลักดัน “มวยไทย สมัครเล่น” สู่โอลิมปิกเกมส์ จนประสบผลสำเร็จ

⦁…ฝ่าวิกฤตสู้โควิด-19 เปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ไปแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ครั้งนี้จะต้องจัดแบบนิวนอร์มอล ญี่ปุ่นวางมาตรการป้องกันไวรัสอันตรายที่เข้มงวด แต่เสน่ห์ของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยมีนักกีฬา 11,000 คน จาก 206 ประเทศทั่วโลก มาร่วมชิงชัยใน 33 ชนิดกีฬา กระจายไปใน 42 สนามหลัก

⦁…หลายประเทศจ้องตาเป็นมัน จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกให้ได้ หลายชาติเป็นแล้วก็อยากเป็นอีก อย่างครั้งนี้ ญี่ปุ่นเตรียมการมาล่วงหน้ากับการจัดครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ หลังได้รับเลือกก่อนตามระเบียบ 7 ปี บวกกับเวลาที่เลื่อนอีก 1 ปีเพราะพิษโควิด เบ็ดเสร็จ 8 ปี ลงทุนไปมหาศาล 1.8 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท เพื่อสร้างขยายเศรษฐกิจ มีการก่อสร้างสนามกีฬาต่างๆ ขยายถนน สิ่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก พัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านต่างๆ เพิ่มเติม พร้อมกับสร้างหมู่บ้านนักกีฬาไว้ 21 อาคาร ขึ้นมาอยู่ริมแม่น้ำฮารุมิ เมื่อใช้เสร็จก็ขายให้ประชาชน ได้ใช้ประโยชน์พักอาศัยต่อ ดังนั้นข่าวที่ว่าจะยกเลิก ก่อนหน้านี้ คงไม่มีทาง ไม่อย่างนั้นเสียหายมหาศาลแน่นอน

⦁…คิวเจ้าภาพโอลิมปิกตอนนี้ ยาวไปจนถึงปี 2032 แล้ว หลังที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ไอโอซี ครั้งที่ 138 เห็นชอบให้บริสเบน ของออสเตรเลีย รับหน้าที่จัดในครั้งที่ 35 หรือในอีก 11 ปีข้างหน้า ต่อจากโอลิมปิก ปารีส 2024 และโอลิมปิก แอลเอ 2028 โดยการคัดเลือกเจ้าภาพ ไอโอซีค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการคัดเลือกที่ไม่อยากให้แข่งขันกันเกินไป จนเกิดความฟุ่มเฟือย เอาเมืองที่พร้อมที่สุด อย่างบริสเบนก็อยู่ในสายตาตลอด ไอโอซีคัดเลือกมากับมือ ส่งทีมเกาะติดมาตั้งแต่ต้น ส่วนบริสเบนเองก็พร้อมและตั้งใจกว่าใคร ลงตัวกว่านี้ ไม่มีอีกแล้ว

Advertisement

⦁…นอกจากพัฒนาการการคัดเลือกเจ้าภาพแล้ว ไอโอซียังส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ อย่างต่อเนื่อง โธมัส บาค ประธานใหญ่ เน้นในเรื่องนี้มาก แต่ก่อนมีไอโอซีหญิงเพียงแค่ 2-3 คน ตอนนี้ตัวเลขขยับขึ้นเรื่อยๆ มีกว่า 38 เปอร์เซ็นต์แล้ว สัดส่วนนักกีฬาในโตเกียวเกมส์ ก็ใกล้เคียงกันมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ชาย 51 เปอร์เซ็นต์ หญิง 49 เปอร์เซ็นต์ มีการเพิ่มจำนวนนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ในการกล่าวคำปฏิญาณตนพิธีเปิด ให้เป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คน เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ถือธงชาติในพิธีเปิด ก็ให้เพิ่มเป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คนเช่นกัน

⦁…ว่ากันถึงไอโอซีเมมเบอร์หญิง ตอนนี้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีคนขยันของไทย ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่กรุงโตเกียว อย่างขะมักเขม้น ทำงานหนักทุกวันโดยมี เจ้าหญิง ลีมา บินบันดา อัลซาอู แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นทูตประจำสหรัฐอเมริกาคนแรก และไอโอซี สตรี คนแรกของซาอุดีอาระเบีย มาร่วมเสริมกันทำงาน ผนึกพลังสตรีให้โลกรับรู้ถึงความสามารถของสตรีที่มีอยู่เปี่ยมล้น สร้างประโยชน์ให้วงการ โดยเฉพาะคุณหญิงปัทมา ถือว่าเป็นความภูมิใจของวงการกีฬาไทยเลยก็ว่าได้ ประสานสิบทิศกับคีย์แมนสหพันธ์กีฬานานาชาติทั่วโลก ช่วยสมาคมกีฬาต่างๆ ของไทย และยังเชื่อมต่องานด้านวัฒนธรรม ในฐานะประธานกรรมาธิการวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก ควบคู่กันไปในเวลาเดียวกันด้วย

Advertisement

⦁…ผลงานล่าสุด ไอโอซีคุณหญิงปัทมามีส่วนสำคัญผลักดัน ทั้งด้านกีฬา และวัฒนธรรม ของไทย ด้วยการส่งมวยไทยภายใต้การบริหารงานของสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรืออีฟม่า ให้ถึงฝั่งฝัน ผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ไอโอซีครั้งล่าสุด ให้เป็นกีฬาที่อยู่ในเส้นทางการบรรจุเข้าไปในโอลิมปิกเกมส์ได้แล้ว หลังผ่านเกณฑ์ประเมินที่กำหนดทุกด้าน เป็นที่เรียบร้อย ต่อไปนี้ มวยไทยก็จะเป็นกีฬาระดับโลก อยู่ในระดับเดียวกับยูโดของญี่ปุ่น และเทควันโดของเกาหลีใต้

⦁…ที่ผ่านมาคุณหญิงปัทมาทำงานช่วยสังคมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่ากีฬา วัฒนธรรม ดนตรี คนด้อยโอกาส คุณหญิงจะยื่นมือเข้าไปช่วยตลอดไม่เคยท้อ ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว สมแล้วที่อาจารย์โสรัจจะ “นอสตราดามุสเมืองไทย” เคยทำนายว่า คุณหญิงมีดวงของมหาเศรษฐี ชอบช่วยงานสังคม และผู้อื่นที่ลำบากเดือดร้อน จะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีผู้ใหญ่เมตตาสนับสนุนตลอด ก็ขอให้คุณหญิงสุขภาพแข็งแรง เพื่อช่วยประเทศชาติไปนานๆ

⦁…กลุ่ม ปตท. เดินหน้า “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ต่อเนื่อง เร่งจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนาม ครบวงจร (End-to-End) ร่วมแก้วิกฤตประเทศ หลังมอบยาเรมเดซิเวียร์ รักษาผู้ป่วย COVID-19 แก่รัฐบาล

⦁…พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับมอบยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 2,000 ขวด เพื่อใช้กับผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้ โดยเฉพาะผู้ตั้งครรภ์ที่มีภาวะปอดอักเสบ จากคณะผู้บริหารกลุ่ม ปตท. นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

⦁…นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด เร่งหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในวิกฤต COVID-19 อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในจุดที่เป็นความจำเป็นสูงสุดในช่วงนี้ ซึ่งกลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างเร่งจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) นำร่องเป็นต้นแบบของภาคธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ร่วมช่วยเหลือสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในปัจจุบัน ที่ยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ หลังจากที่สนับสนุนการนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์เพื่อเพิ่มสำรองคงคลังภายในประเทศ

⦁…นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. มีความตั้งใจที่จะร่วมสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ซึ่งยาเรมเดซิเวียร์ดังกล่าว ปตท. ได้มอบให้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จัดหาและนำเข้าเพื่อสนับสนุนภาครัฐ รวมทั้งเตรียมการจัดหาอย่างต่อเนื่องเพิ่มเติม เพราะประเทศยังมีความจำเป็นต้องใช้มากยิ่งขึ้น

⦁…สำหรับการให้ความช่วยเหลือในขั้นถัดไป กลุ่ม ปตท. ได้เตรียมการเพิ่มกำลังการดูแลผู้ป่วยโควิดครบวงจร (End-to-End) เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศในขณะนี้ มุ่งเน้นการตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว โดยจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพันธมิตรทางการแพทย์ ในการเพิ่มการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ การดูแลผู้ติดเชื้อที่ดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้าน หรือในชุมชน (Home or Community Isolation) กลุ่ม ปตท.จะมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ ยา และของใช้ที่จำเป็น พร้อมระบบติดตามอาการทางไกล ตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลสนามเขียวและเหลืองตามระดับความรุนแรงของอาการ โดยร่วมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในระดับสีเขียวประมาณ 1,000 เตียง ระดับสีเหลือง 350 เตียง รวมทั้งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไอซียู รองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤต ระดับสีแดง จำนวน 120 เตียง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดูแลทั้งระบบโดยบุคลากรทางการแพทย์ของพันธมิตรกลุ่ม ปตท. ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

⦁…กลุ่ม ปตท. ขอเป็นกำลังใจและเคียงข้างสังคมไทย เพื่อให้คนไทยและประเทศ ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image