We Watch ร้องสอบทุจริตเลือกตั้ง อบจ. ‘กกต.ปรับปรุงด่วน’ เจอพิรุธ ลำเอียง บัตรเสียเพียบ

We Watch ร้องสอบทุจริต ชี้จุดบกพร่อง เลือกตั้ง อบจ. ‘กตต.ต้องปรับปรุงด่วน’ เจอพิรุธ ลำเอียง บัตรเสียเพียบ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย หรือ We Watch ออกแถลงการณ์ กรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาความว่า

การเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ.ครั้งนี้ เผยให้เห็นวิกฤตของระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นในยุคสมัยปัจจุบันอีกครั้ง ดังจะพบจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่ลดลง สวนทางกับจำนวนบัตรเสีย และบัตรไม่เลือกผู้ใดที่สูงขึ้น ในขณะที่ ความโปร่งใสของการจัดการเลือกตั้งได้รับการตั้งคำถามอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนว่ากระบวนการประชาธิปไตยท้องถิ่นละเลยการยึดเอาสิทธิของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมด 27,991,587 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน หรือร้อยละ 58.45 และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.อบจ. 47,124,842 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็นร้อยละ 56.06 เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2563 ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 62.86

ADVERTISMENT

ปรากฏการณ์นี้จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า การกำหนดเลือกตั้งในวันเสาร์ โดยไม่มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่สามารถใช้สิทธินอกเขตได้นั้นไม่ส่งผลกระทบกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ เพราะนั่นทำให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในวันเสาร์ และผู้ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดอื่นที่ห่างไกลจังหวัดที่ตัวเองมีสิทธิเลือกตั้ง ต้องสูญเสียสิทธิในการกำหนดอนาคตท้องถิ่นของตน

สำหรับ ข้ออ้างที่ว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ลดลงเพียง 4% เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่จำนวนที่กล่าวถึงนี้ ก็นับเป็นเสียงจากประชาชนร่วมล้านคน และสิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด ผู้ที่มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งควรให้ความสำคัญกับทุกสิทธิและทุกเสียงของประชาชนอย่างเท่ากัน และควรทำให้กระบวนการเลือกตั้งเอื้อต่อการใช้สิทธิของประชาชนให้มากที่สุด

ADVERTISMENT

ความบกพร่องของการจัดการเลือกตั้งยังแสดงให้เห็นผ่านจำนวนบัตรเสียที่สูงถึง 2,419,376 ใบ จากการรวบรวมข้อมูลของ We Watch พบว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบบัตรเลือกตั้งที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้สิทธิ อันสืบเนื่องจากระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ข้อที่ 133 กำหนดให้การเลือกตั้งท้องถิ่นจัดขึ้นในวันและเวลาเดียวกันต้องมีสีต่างกัน

แม้การแยกสีบัตรเลือกตั้งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 แต่ครั้งนั้น ก็เป็นการแยกสีจากประเภทของ ส.ส. แต่การเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมานี้ นอกจากเป็นการแยกจากประเภทนายก อบจ. และ ส.อบจ. แล้ว ยังเป็นการแยกสีตามภูมิภาค

จากบันทึกข้อเท็จจริงของนักสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งรายงานเข้ามายัง We Watch ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 พบว่า กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) บางแห่ง ให้ข้อมูลที่ผิดแก่ผู้ใช้สิทธิเกี่ยวกับสีของบัตรเลือกตั้ง รวมไปถึงตัวอย่างบัตรเลือกตั้งที่ติดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวอย่างบัตรสีขาว-ดำ ส่งผลต่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประเภทของบัตรเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ข้อมูลจากแบบสอบถามที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร สำนักนวัตกรรม สถาบันพระปกเกล้า WeVis และ We Watch พบว่า กรณีบัตรเสียที่มาจากการ “ติ๊กถูก” ในช่องลงคะแนน มีรายงาน 51 คน จาก 94 คน คิดเป็นร้อยละ 54.3 จากจำนวนทั้งหมดที่พบบัตรเสีย ซึ่งหากพิจารณาไปที่เจตนาการลงคะแนน ผู้ใช้สิทธิได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงตัวเลือกที่ต้องการแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ใช้เครื่องหมายที่กำหนดไว้

สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดจากความไม่ตั้งใจของผู้ใช้สิทธิในการทำให้เกิดบัตรเสีย แต่เป็นผลจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างข้อกำหนดในการลงคะแนนกับความเข้าใจของประชาชน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการสื่อสารที่ไม่ทั่วถึง หรือแนวทางการออกแบบบัตรเลือกตั้งที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการทบทวนและแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเกิดบัตรเสียโดยไม่จำเป็นและให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนน

สำหรับ ประเด็นความเป็นกลางของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งในหลายพื้นที่ เช่น

ที่จังหวัดอุดรธานี พบพฤติกรรมชักจูงให้ประชาชนเลือกผู้สมัครบางราย พร้อมทั้งสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ อีกกรณีเกิดขึ้นที่จังหวัดนครพนม พบว่ามีประชาชนคนหนึ่งได้กาบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ และเข้าคูหาถึง 2 ครั้ง หลังจากเจ้าตัวเปิดเผยว่าได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ และได้รับอนุญาตให้เซ็นชื่อในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และเข้าคูหาลงคะแนน ออกมาหย่อนบัตรลงหีบแล้วก็กลับบ้าน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกให้กลับมาเพราะเซ็นชื่อไม่ครบ จึงได้บัตรเลือกตั้งใหม่และเข้าคูหาเป็นครั้งที่สอง

ที่จังหวัดสมุทรปราการ หน่วยเลือกตั้งหลายหน่วยในพื้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง อำเภอบางพลี พบกลุ่มบุคคลมีพฤติกรรมน่าสงสัย ผลัดเปลี่ยนกันติดตามและพาผู้สูงอายุเข้าไปใช้สิทธิถึงภายในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยให้ถือบัตรประชาชนของผู้สูงอายุ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้เชิญบุคคลดังกล่าวออกจากบริเวณ แต่ก็พบว่ามีบุคคลอื่นอีก 2-3 คนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามากระทำการในลักษณะเดียวกัน

ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 28 หมู่ที่ 2 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งพบว่า ชื่อของตนถูกลงนามในบัญชีรายชื่อและต้นขั้วบัตรเลือกตั้งโดยบุคคลอื่น ทั้งในส่วนของบัตรเลือกนายก อบจ. และบัตรเลือก ส.อบจ. เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งกลับปฏิเสธความรับผิดชอบและแนะนำให้ผู้เสียหายไปร้องเรียนเอง

แม้ท้ายที่สุดจะมีการจัดหาบัตรเลือกตั้งใหม่ให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิ แต่บัตรที่ถูกสวมสิทธิยังคงถูกนับรวม เพราะบัตรลงคะแนนดังกล่าวได้ปนอยู่ในหีบบัตรเลือกตั้งไปแล้ว กรณีนี้สะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการเลือกตั้งที่ไม่รัดกุมและอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงรายเดียว จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของประชาชนในลักษณะนี้อีก

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ทางเราได้รับรายงานว่ามีอาสาสมัครสังเกตการณ์และประชาชนในหลายพื้นที่ ถูกห้ามมิให้ทำการอห้สังเกตการณ์ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ทำได้ตามสิทธิพลเมือง ไม่มีข้ามทางกฎหมายใดๆ โดยเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบให้การเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรมและทุกฝ่ายยอมรับ สำหรับประเด็นการลาออกก่อนครบวาระของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ 26 จังหวัด ที่มีการจัดการเลือกตั้งไปแล้วในปี 2567 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองท้องถิ่นในหลายมิติ ได้แก่ การสิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณท้องถิ่นในการจัดการเลือกตั้ง 2 ครั้ง (บางจังหวัดเช่นปทุมธานีต้องจัดการเลือกตั้ง 3 ครั้ง เนื่องจาก กกต. มีคำสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่) รวมถึงเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องเดินทางออกไปสิทธิมากกว่า 1 ครั้ง

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน และทำให้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังส่งผลให้ประชาชนขาดความตื่นตัวและเบื่อหน่ายต่อกระบวนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งระดับประเทศ อาทิ การเลือกตั้งล่วงหน้า การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต การใช้สิทธินอกราชอาณาจักร ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นต่ำกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ

จากข้อค้นพบเบื้องต้นที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันเสาร์ ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา มิได้ยึดเจตนารมณ์และโอกาสในการเข้าถึงสิทธิของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งยังมิได้คำนึงถึงการทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้อย่างประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคตได้เป็นวิธีการที่สะท้อนเสียงของประชาชนและนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) จึงมีข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. พิจารณาทบทวนและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิเลือกตั้งได้ทั่วถึงและสะดวกขึ้น โดยการเลือกตั้งต้องจัดขึ้นในวันที่ประชาชนสะดวกที่สุด หรือเป็นวันอาทิตย์ตามเดิมอย่างที่เคยจัดมา และต้องมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า การใช้สิทธินอกเขต และการใช้สิทธิสำหรับผู้ที่อยู่นอกประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน

2. ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบกรณีการทุจริตหรือพฤติกรรมที่ส่อเจตนาทุจริต ในระหว่างกระบวนการเลือกตั้งอย่างเร่งด่วน พร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยเฉพาะกรณีการสวมสิทธิการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และควรมีมาตรการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้ง เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดในหน่วยเลือกตั้ง เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้มาใช้สิทธิ

3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทบทวนและปรับปรุงการออกแบบบัตรเลือกตั้งให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย อย่างการมีข้อมูลของผู้สมัคร เช่น ชื่อ ใบหน้า สัญลักษณ์หรือโลโก้ เพื่อป้องกันความสับสนและการเกิดบัตรเสีย รวมทั้งต้องจัดให้มีการให้ข้อมูล และการสื่อสารที่ครอบคลุมและชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจการลงคะแนนอย่างถูกต้อง

4. ต้องพัฒนาความโปร่งใสและความเป็นกลางในการเลือกตั้ง โดยสร้างมาตรการควบคุมดูแลความเป็นกลางของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน และการฝึกอบรมให้มีความรู้และเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เพื่อลดการละเมิดสิทธิของประชาชนและป้องกันการทุจริตในกระบวนการเลือกตั้ง

5. ตรวจสอบและจัดการกับปัญหาการลาออกก่อนครบวาระของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อป้องกันการเลือกตั้งซ้ำซ้อน การผลักภาระให้ประชาชนและท้องถิ่น การใช้จ่ายทรัพยากรและงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนั้น ยังขอเรียกร้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ให้ช่วยกันหาข้อสรุปและแก้ไขปัญหาการลาออกก่อนครบวาระ ซึ่งเป็นช่องว่างทางกฎหมาย

6. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การออกกฎระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนสามารถสังเกตการณ์ได้อย่างราบรื่นและปราศจากอุปสรรค

We Watch ยืนยันในหลักการที่ว่า ทุกเสียงของประชาชนต้องถูกนับ ทุกการมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องได้รับการคุ้มครอง และความหวังในการพัฒนาท้องถิ่นต้องไม่ถูกทอดทิ้ง

เราขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งในอนาคตเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

การเลือกตั้งต้องยืนอยู่บนหลักการที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มิใช่เพียงแค่การจัดให้มีการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคและข้อจำกัดในการใช้สิทธิของประชาชน หากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นจะยังคงเป็นเพียงกระบวนการที่ขาดความชอบธรรมและไม่สามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง

เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) จะติดตามกระบวนการนี้ต่อไป พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือที่แท้จริงในการสะท้อนเสียงและเจตจำนงของประชาชน

เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch)

7 กุมภาพันธ์ 2568

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image