‘บิ๊กฉัตร’ ล่องใต้ เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก กระตุ้นทุกฝ่ายบูรณาการแก้ปัญหาน้ำ

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ รร.หรรษา เจบี จังหวัดสงขลา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนา “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ภาคใต้” โดยมีนายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา คณะกรรมการลุ่มน้ำ ตัวแทนประชาชน เข้าร่วม

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การจัดเสวนาดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และการเสวนานั้นจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ ได้รับรู้แผนงานและผลงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล รวมทั้งสร้างความเข้าใจและรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศในช่วงฤดูฝน ปี 2561 นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม การบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ทั้งด้านความพร้อม ด้านแผนงาน ด้านการบริหารจัดการ การให้ความช่วยเหลือ ด้านเครื่องจักรเครื่องมือในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เป็นต้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้อง ให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทำได้อย่างถูกต้องทันเวลา และมีแผนงานพร้อมจัดการในการรับมือกับภัยจากน้ำ

ด้านนายประดับ กล่าวว่า สทนช.ได้มีการจัดเสวนาในระดับส่วนกลางแล้วเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเดินสายจัดเสวนาในระดับพื้นที่จำนวน 4 ครั้ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และพระนครศรีอยุธยา ทุกครั้งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ โดยในแต่ละครั้งก็มีการนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำมาตรการ การเชื่อมโยงและการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในฤดูน้ำหลากปี 2561 นี้ และการจัดเสวนาในระดับพื้นที่ครั้งที่ 4 จะเป็นครั้งสุดท้าย

ทั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้ครอบคลุม 14 จังหวัดซึ่งมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ แต่ในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมและพายุ สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ที่ผ่านมา สนทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ 66 พื้นที่ ทั่วประเทศ รวม 29.70 ล้านไร่ พบว่ามีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ ในช่วงปี 2562 – 2565 มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออก 2 โครงการ ภาคใต้ จำนวน 2 โครงการ โดยมีโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน 9 โครงการสำคัญที่รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ในปี 62 ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image