กรธ.จับมือ3กระทรวง ส่ง ขรก.เป็นคีย์แมนลงพื้นที่แจงรธน.แทน

กรธ.จับมือ3กระทรวง ส่งขรก.ร่วมเป็นวิทยากรแจงรัฐธรรมนูญ “ประพันธ์” ไม่เห็นด้วย สนช.ขอเอี่ยวเวทีประชามติ ชี้ คำถามพ่วงขัดร่างรธน.ด้าน “ชาติชาย” หวั่น คนขี่-ซ้อนจักรยานไปคนละทาง ทำปชช.สับสน

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมประชาสัมพันธ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้พูดคุยร่วมกับนายประทีป กีรติเรขา รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและคณะทำงานถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการขอความร่วมมือจากระทรวงมหาดไทยในส่วนของการอบรมวิทยากรกระบวนการ เบื้องต้นได้หารือถึงแนวทางการทำงานว่า จะขอให้หน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ส่งข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการจังหวัดละ 5 คน เพื่อให้เป็นคีย์แมนของการทำความเข้าใจต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องชัดเจน และตรงประเด็นให้กับวิทยากรในระดับอำเภอ และกำหนดให้มีวิทยากรระดับอำเภอ อำเภอละ 20 คน ซึ่งกำหนดให้นายอำเภอเป็นประธานวิทยากร จากนั้นให้วิทยากรระดับอำเภอ อบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะมีตัวแทนหมู่บ้านละ 4 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประธานกองทุนหมู่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่อธิบายและชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในหมู่บ้านแบบตัวต่อตัว

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนระดับหมู่บ้าน ได้กำหนดแนวทางเบื้องต้นคือ หลังจากที่กระบวนการชี้แจงเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้ และต้องจัดให้มีการประชุมภายในหมู่บ้านจำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม และครั้งที่สองคือในรอบ 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม เพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงประชาชนมากที่สุดและต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนวันออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ ตนไม่ห่วงว่าในการชี้แจงระดับพื้นที่นั้นจะเจอเหตุการณ์ก่อกวนจากกลุ่มคนที่เห็นต่าง เพราะในร่างกฎหมายประชามติ มาตรา 10 ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายของกรธ. สามารถกำหนดมาตรการคุ้มครองการดำเนินการได้

“กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีแนวคิดอยากร่วมเวทีชี้แจงของกรธ. เพื่ออธิบายเนื้อหาของคำถามประกอบการทำประชามตินั้น ส่วนตัวมองว่าอาจสร้างความสับสนได้ คล้ายกับกรธ.ที่มีหน้าที่ชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นคนขี่จักรยาน แต่สนช.ที่มีหน้าที่ชี้แจงคำถามประกอบประชามติเป็นคนซ้อนท้ายจักรยาน หากคนขี่บอกว่าไปทางนี้ได้ แต่คนซ้อนบอกว่าต้องอีกทาง เรื่องนี้อาจทำให้คนฟังเกิดความสับสนได้” นายชาติชาย กล่าว

Advertisement

ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. กล่าวว่า กรธ.ต้องยึดแนวทางและหลักปฏิบัติที่กฎหมายกำหนด โดยหน้าที่สำคัญ คือ การอธิบายรายละเอียดของบทบัญญัติที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า มีประเด็นอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจด้วยตนเองว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่มีเครือข่ายต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเป็นข้อห้ามไว้ แต่การทำกิจกรรมดังกล่าวต้องไม่ใช่ลักษณะที่เข้าข่ายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ หรือมีลักษณะใส่ร้าย และก่อนกวนที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง หรือมีลักษณะที่ให้เกิดกระบวนการต่อต้านทางการเมือง

นายประพันธ์ กล่าวถึงกรณีที่สนช.มีแนวคิดจะขอร่วมเวทีชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับกรธ.ว่า ส่วนตัวมองว่า ประเด็นดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม เพราะคำถามประกอบการออกเสียงประชามติ ของ สนช. ที่ระบุให้ใช้ที่ประชุมรัฐสภาร่วมให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนกังวลว่าหากจัดการชี้แจงในเวทีเดียวกันประชาชนอาจสับสนได้ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวคาดว่ากรธ. จะนำมาหารือกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 เมษายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image