สภาฯ จัดสัมมนาบทบาทสื่อฯ ‘สมชาย’ ซัด สื่อเทียม-นักเล่าข่าว ชอบบิดเบือน

สภาฯ จัดสัมมนาบทบาทสื่อฯ “สุรชัย” หวัง ช่วยเป็นฐานันดร 4 ตรวจสอบ-ปฏิรูปประเทศ ด้าน “สมชาย” ซัด สื่อเทียม -นักเล่าข่าว ชอบบิดเบือน ชี้อินเตอร์เน็ตทำ 110 ล้านเลขหมายเป็นนักรบโซเซียล

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่รัฐสภา สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดสัมมนาเรื่องบทบาทของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวเปิดตอนหนึ่งว่า สื่อมวลชนมีบทบาทเป็นคนกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนให้ได้รับทราบข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง อีกทั้งยังมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานภาครัฐ และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากนี้ยังมีบัญญัติเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพสื่อในการเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นอิสระไม่ให้สื่อถูกแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะจากอำนาจทุนหรือเงิน ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สภาวการณ์ที่คาดหวังว่าจะไปสู่แนวทางที่ดีก้าวผ่านความขัดแย้ง จึงหวังว่า สื่อมวลชนจะช่วยทำหน้าที่ในฐานะฐานันดรที่ 4 ที่จะมีส่วนช่วยตรวจสอบ และเรื่องการปฏิรูปให้นำไปสู่เป้าหมาย สงบปรองดอง สร้างความเป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้สังคมมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

จากนั้นเป็นการเสวนาเรื่อง เสรีภาพบนความรับผิดชอบของสื่อ โดยนายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวตอนหนึ่งว่า สื่อมวลชนต้องปลอดจากอำนาจรัฐ แต่ที่ผ่านมาการทำงานของสื่อมีทั้งสื่อแท้ และสื่อเทียม โดยเฉพาะสื่อเทียมที่เข้ามามีบทบาทต่อการชุมนุมทางการเมือง โดยมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหลักจริยธรรมแล้วไม่สามารถทำได้ แต่กฎหมายยังไปไม่ แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่า นักการเมืองจะเป็นเจ้าของสื่อไม่ได้ แต่เมื่อกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลังย่อมทำให้การทำหน้าที่ของสื่อมีการเปลี่ยนแปลงในจรรยาบรรณ นอกจากนี้ ยังมีนักรบหน้าจอบนมือถือกว่า 110 ล้านหมายเลข เมื่อสื่อสารอินเตอร์เน็ตเข้าถึงหมู่บ้าน ทุกคนก็จะเป็นนักรบได้ ที่ผ่านมาสื่อมีความผิดพลาดในการนำเสนอข่าว เพราะบางครั้งก็มีการเสนอเพียงครึ่งเดียว จึงกังวลว่า ปัจจุบันมีนักเล่าข่าวจำนวนมาก เนื่องจากบุคลิกคนไทยชอบจำ และเมื่อการนำเสนอหรือเปลี่ยนข้อความนิดเดียวก็ทำให้บิดเบือนจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ขอเสนอให้ สนช.มีการพิจารณาออกกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อย่างกรณีของอังกฤษมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่มีความยาวถึง 300 มาตรา ซึ่งอยากให้ทางรัฐสภามอนิเตอร์เรื่องดังกล่าวเพราะทั้ง 300 มาตรามีการคุ้มครองในเรื่องสิทธิของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตายว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่อังกฤษมีข้อยกเว้นให้เพียง 3 กรณี 1.ทนายที่จะไปแสวงหาข้อมูล 2.สื่อมวลชนที่จะไปรายงานข่าว และ 3.หน่วยข่าวกรองทั้งหลาย แต่ขณะนี้กฎหมายของไทยยังไม่ออกทั้งที่ก่อนหน้าที่พยายามที่จะทำกฎหมายรองรับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยเฉพาะสื่อที่เสนอข่าวใต้เตียงของดารา ที่เสนอข่าวแต่การหลับนอน ดังนั้นหากมีจุดหมายเรื่องสิทธิเสรีจะทำให้เกิดการเคารพนับถือ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image