นพ.สุภัทร เผยมีกระแสลือ สภาพยาบาลจะดันแก้พรบ.ยาอีก ชี้ สวนทางปท.พัฒนาแล้ว

วันนี้ (23 ก.ย.) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ยกตัวอย่างการทำงานของศูนย์สุขภาพชุมชนในเบลเยี่ยม โดยในช่วงท้าน นพ.สุภัทร ระบุว่า มีกระแสลือว่า สภาการพยาบาล จะดันแก้พรบ.ยาอีกรอบ

ปี 2011 ผมไปเรียนสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตที่เบลเยียม อาจารย์พาไปดูงานศูนย์สุขภาพชุมชน (community health center) ที่เมือง Ghent ระบบเบลเยียมที่นี่เป็นระบบที่เอกชนเป็นผู้จัดบริการ โดยรัฐเป็นผู้ควบคุมและจ่ายเงินให้เอกชนตามอัตราในระบบประกันสุขภาพและประกันสังคม ศูนย์สุขภาพชุมชนที่ผมไปเยี่ยมนี้ก็เช่นกัน เกิดจากการวมตัวของแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นเอกชน

แพทย์ทั่วไปหรือ GP ที่มารวมกันทำงานด้วยกันในลักษณะศูนย์สุขภาพชุมชนหรือ นี้เป็นพัฒนาการในการจัดบริการที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะมีแพทย์ GP มารวมกันเป็นองค์กรแล้ว ยังมีพยาบาลและนักกายภาพบำบัดมาอยู่ร่วมกันและทำงานเป็นทีมเดียวกันด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ที่ Wijkgezondheidscentrum Rabot หรือ Community Health Center แห่งชุมชน Rabot นั้น ในปี 2011 ถือเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนที่เพิ่งตั้งมาได้ 2 ปี โดยเช่าบ้าน 3 ห้องแถวที่มี 3 ชั้นเป็นที่ทำการ ในตอนนั้นมีแพทย์ GP 5 คน มีพยาบาล 2 คน นักกายภาพบำบัด 2 คน เจ้าหน้าที่บริหารงาน 2 คน และเจ้าหน้าที่บัตรและงานประกันสุขภาพอีก 8 คน แต่วันนี้ผมเข้าไปสืบค้นทาง website พบว่า เขามีแพทย์เป็น 6 คน พยาบาลยัง 2 คน และมีนักกายภาพบำบัด 3 คน

Advertisement

เมื่อผู้ป่วยเข้ามา ก็จะมาที่เคาท์เตอร์รับบัตร เช็คสิทธิ จัดคิว หากไม่ด่วนและไม่มีคิวว่างแล้วก็จะนัดมาในวันรุ่งขึ้น จากนั้นก็รอพบแพทย์ ตรวจรักษา แล้วก็รับใบสั่งยา ออกไปซื้อยาที่ร้านเภสัชกรเอกชนต่อไป แพทย์จะไม่ได้ตรวจคนไข้เฉพาะในคลินิก แต่ต้องออกเยี่ยมบ้านด้วย

พยาบาลที่มี 2 คน คือหน่วยหลักในการเยี่ยมบ้าน ไปเปลี่ยนสายสวนต่างๆตามเวลา ไปทำแผลที่บ้าน ไปฉีดยาให้ยาที่บ้าน ไปให้สุขศึกษา ไปฉีดวัคซีนในโรงเรียน ดูแลผู้สูงอายุในสถานที่พักคนชรา แนะนำการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ส่วนนักกายภาพบำบัดก็มีงานกายภาพมากมายในชุมชน เพราะที่นั่นเป็นสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว

ทั้งแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด ทำงานเป็นทีม ปรึกษาวางแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน ทุกคนมีบทบาทในการเยี่ยมบ้าน ดูแลผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์คนชรา เป็นต้น ทั้งนี้ในการเยี่ยมบ้านทุกคนมักจะใช้จักรยานเป็นยานพาหนะอีกต่างหาก

Advertisement

ในปัจจุบัน แม้ว่า GP ส่วนใหญ่ของประเทศเบลเยี่ยมยังทำหน้าที่ในลักษณะ solo GP หรือ เป็น GP ที่เป็นอิสระ ทำงานเป็นเอกเทศ แต่ก็มีแนวโน้มว่าแพทย์ GP รุ่นใหม่ๆ ทีแนวโน้มที่สนใจในการรวมตัวเพื่อจัดบริการมากขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่มีการบูรณาการระหว่างวิชาชีพและเสริมเติมงานกันในแนวราบ และประโยชน์ตกกับคนในชุมชนนั้นอย่างแท้จริง

พรบ.ยาในประเทศไทย แก้ไปแก้มา ระวังจะสร้างระบบที่ถอยหลัง เพราะมีกระแสลือมาว่า สภาการพยาบาลจะดันอีกรอบ แก้ พรบ.ยา ให้พยาบาลที่เปิดคลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์สามารถจ่ายยาคล้ายๆกับคลินิกแพทย์ได้ หากเป็นจริงก็ช่างแตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเหลือเกิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image