อธิบดี สถ. ย้ำ จัดสรรงบให้ อปท.แล้ว ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยยังชีพของปี’62 ตรงเวลาแน่

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ

“อธิบดี สถ.” ย้ำ จัดสรรงบให้ อปท.แล้ว ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยยังชีพของปี’62 ตรงเวลาแน่นอน พร้อมขอผู้สูงอายุที่อายุครบกำหนดมาลงทะเบียนรับเบี้ยด้วย

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวถึงการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ว่าสามารถจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ 3 วิธี คือ 1.รับเป็นเงินสด 2.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในนามผู้ที่ได้รับสิทธิ และ 3.ผู้ที่ได้รับสิทธิสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับแทนได้เป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ที่รับมอบอำนาจ โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่วนกรณีที่บางจังหวัดได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิทุกรายนั้น ก็อาจเป็นการเตรียมความพร้อมตามนโยบาย e-payment ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ด้านการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 นั้น จะเห็นว่าตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ข้อ 7 ได้กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีคุณสมบัติครบถ้วนในปีงบประมาณถัดไป สามารถลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ที่ อปท.ที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานของ อปท.หรือสถานที่ที่ อปท.ได้กำหนดไว้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และเนื่องจากช่วงระยะเวลาของการลงทะเบียน มีระยะเวลายาวถึง 11 เดือน ทำให้อาจเกิดการลงทะเบียนคร่อมปีงบประมาณถึง 2 ปีงบประมาณ จึงขอแจ้งว่า ในการลงทะเบียนในปี 2561 จะมีช่วงของการลงทะเบียน ดังนี้ 1.ลงทะเบียนช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2561 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2561 จึงเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2562 และ 2.ลงทะเบียนช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2562 จึงเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2563

นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ผู้สูงอายุย้ายที่อยู่ใหม่ ก็ให้ อปท.เดิมจ่ายเบี้ยยังชีพจนถึงสิ้นปีงบประมาณ (กันยายน) และให้ผู้สูงอายุไปลงทะเบียน ณ อปท.ที่ไปอยู่ใหม่ เพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณถัดไป (ตุลาคม) และการรับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดของผู้ที่มีอายุ 60 70 80 และ 90 ปี มติ ครม.ไม่ได้กำหนดอายุบริบูรณ์ไว้ จึงสามารถรับเบี้ยยังชีพได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณพร้อมกัน รวมถึงการปรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามขั้นบันไดก็จะปรับตามปีงบประมาณ ไม่มีการปรับตามเดือนเกิดแต่อย่างใด และอีกกรณีหนึ่งที่ยังมีข้อสงสัยว่า หากผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้ขาดคุณสมบัติการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือไม่นั้น ก็ขอเรียนว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ได้ระบุไว้ว่า ต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. รวมถึงผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือ อปท.จัดให้เป็นประจำ จึงทำให้ขาดคุณสมบัติการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และต้องถอดชื่อออกจากบัญชี โดยไม่ต้องมีการประกาศรายชื่อ และหากเมื่อคุณสมบัติกลับมาครบตามระเบียบ ก็ต้องลงทะเบียนใหม่เพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีถัดไปนั่นเอง สำหรับดำเนินการด้านงบประมาณรายการเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ที่ให้ อปท.ดำเนินการตั้งงบประมาณในข้อบัญญัติท้องถิ่น/เทศบัญญัติ ในหมวดงบกลาง ประเภทเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ.2562 งวดที่ 1 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561) เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 17,051,595,900 บาท ให้แก่ อปท.เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้มั่นใจได้ว่า ผู้สูงอายุทุกท่านจะได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพได้ตรงตามเวลาอย่างแน่นอน

“ก็ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และมีคุณสมบัติครบถ้วน มาลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท.ประจำปี 2563 ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 และเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2562 ด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน โดยมีเอกสารตามที่ราชการกำหนดไว้ เพื่อจะได้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพ โดยจัดเตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้ 1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย 2.ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นปัจจุบัน และ 3.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image